เปิดบริการทุกวัน Open Daily 7.00 -19.00

เปิดบริการทุกวัน Open Daily 7.00 -19.00

๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑

อาจารย์ สุลักษณ์ ศิวลักษณ์ เยือน นอร์บูลิงการ์อย่างเป็นทางการ



พูดถึง อ.สุลักษณ์ ต้องเท้าความไปยังปี 2542 หรือเมื่อ 9 ปีที่แล้ว

ผมได้พบอาจารย์สุลักษณ์ครั้งแรกเมื่อครั้งเป็นนักศึกษาปีสอง ที่ราชภัฏเชียงราย
ครั้งนั้นอาจารย์ได้ไปพูดเนื่องในโอกาส 100 ปี ปรีดี พนมยงค์ มีคนฟังในครั้งนั้นร่วมพันคน
ผมกับเพื่อน ผู้นิยมอ่านหนังสืออาจารย์ ฝ่าวงล้อมผู้คนเข้าไปขอลายเซ็น
จำได้หนังสือเล่มแรกที่เอาไปให้อาจารย์เซ็นคือ ออกจากโครงสร้างอันอยุติธรรม
จนเมื่อขึ้นปีสุดท้ายจึงอยากที่จะเข้าไปฝึกงานในองค์กรของอาจารย์

โชคดีที่ในขณะนั้นมี อ.สมบัติ คำบุญเยือง ผู้ที่แม้ไม่ได้สอนข้าพเจ้าในห้อง
แต่ก็เกื้อกูล ให้โอกาส และคำแนะนำในหลายเรื่อง มากกว่าเหล่าบรรดาอาจารย์ อื่นๆ
อ.สมบัติ นี่เองที่โทรศัพท์ ไปหาคุณหนึ่งสุวรรณี ผู้จัดการออฟฟิศอาศรมวงสนิทในขณะนั้น
เมื่อคณะกรรมการชุมชนเห็นชอบ ก็ได้เข้าไปล่องลอยในอาศรม

การเข้าไปในดินแดนอาศรม เมื่อครั้งยังหนุ่มนั้น นับเป็นโอกาสที่ดียิ่ง
นอกจากจะได้มีโอกาสพบอาจารย์สุลักษณ์หลายครั้ง ก็ได้พบกับพี่ประชา ซึ่งต่อมาก็ทำให้เกิดแรงบัลดาลใจเดินทางไปอินเดียอีกด้วย
นอกจากนั้น ที่อาศรม ผมยังพบ อุเทน มหามิตร ผู้ซึ่งต่อมานับเป็นสดมภ์หลักในการสร้างนอร์บูลิงการ์เลยทีเดียว



เมื่ออยู่อินเดีย ได้พบอาจารย์สุลักษณ์ถึงสามครั้ง และที่น่าประทับใจทุกครั้ง อาจารย์จะหอบหิ้วหนังสือ
ทั้งที่แกเขียน และตำราเรียนมาให้ และครั้งที่สร้างแรงสะเทือนที่สุดเห็นจะเป็นตอนที่อาจารย์ได้แนะนำผม
ให้กับท่าน ซัมด้องรินโปเช นั่นเป็นสิ่งที่ทำให้ผมหันมาสนใจวัฒนธรรมธิเบต และเลือกเรียนสาขาพุทธแบบธิเบตในปีถัดมา ในช่วงเรียนยังพบรุ่นพี่อีกคน(พี่หลุย) ซึ่งต่อมาก็เป็นผู้ออกแบบโครงร่างแรกของนอร์บูลิงการ์ และ
โลโก้ของร้าน อีกเช่นกัน

จนเมื่อจบจากอินเดียไปทำงานที่ประเทศลาว มีโอกาสพบอาจารย์สุลักษณ์อีกเรื่อยๆ
จนเมื่อปีที่สองในลาว ก็เกิดความคิด ที่อยากย้ายตัวเองไปทำโครงการธรรมสังคีต
ซึ่งพี่หมู ก็ไปคุยกะอาจารย์สุลักษณ์ และอาจารย์ก็ไปคุยกะอาจารย์วีระ สมบรูณ์
ให้รับผมเป็นผู้ประสานงานโครงการนั้น

จุดพลิกผันสุดท้าย กลับมาเป็นอาจารย์สมบัติ (ผู้สร้างความผลิกผันครั้งแรกให้ชีวิต) แกขับรถมาเวียงจันทน์
เมื่อติดต่องานในลาว และก็สร้างความปั่นป่วนให้ผมด้วยการชวนไปเป็นอาจารย์ในราชภัฏเชียงราย
ไม่นาน ผมตัดสินใจไป ด้วยเหตุผลใกล้บ้าน (พะเยา) และจะได้ทำร้านกาแฟไปด้วย

ก่อนออกจากงาน โม่ ผู้ประสานร่วมกะผมที่ลาว พาผมไปหาอาจารย์วีระ สมบรูณ์บอกเหตุในการเปลี่ยนใจ
และเราก็แวะไปบ้านอาจารย์สุลักษณ์ บอกอาจารย์เช่นกัน ผมก็ได้ถามอาจารย์ถึงความเป็นไปได้ในการใช้ชื่อ
นอร์บูลิงการ์ ในการทำร้านกาแฟ อาจารย์บอก ได้ แต่มันไม่ใหญ่ไปหน่อยละหรือ

นับแต่นั้น ก็เป็นที่ชัดเจนว่า ร้านกาแฟผมชื่อ นอร์บูลิงการ์ แม้ตอนนั้นผมยังไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับกาแฟ
และทุกอย่างในสมองเป็นเพียงความฝันล้วนๆ

หลังรัฐประหาร ผมออกจากอาศรม ไม่ไปทำงานธรรมสังคีตที่อยากทำ ผมไปสอบสัมภาษณ์ แต่ไม่ได้
จะด้วยเหตุผลใดก็แล้วแต่ มันก็เป็นโอกาสทำให้ผมมีเวลาเต็มที่ในการสร้างร้านกาแฟในฝัน

อุเทนที่ผมเจอที่อาศรมเมื่อห้าปีก่อน ก็ได้มาเป็นคนเนรมิต นอร์บูลิงการ์ในฝันให้ออกมาเป็นจริง
นับจากขั้นฝัน ร่างออกมา และทำจริง ก็ใช้เวลาไปเกือบครึ่งปี

และเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2550 ที่ผ่านมา อ.สุลักษณ์ก็ได้มาเยือน นอร์บูลิงการ์อย่างเป็นทางการ

นับเป็นอีกหน้าหนึ่งในประวัติศาตร์ของนอร์บูลิงการ์












ขอบคุณ ดิน ว่าที่คุณหมอสายธิเบต ผู้ถ่ายภาพอาจารย์ตอนอยู่ในร้านให้นะครับ