เปิดบริการทุกวัน Open Daily 7.00 -19.00

เปิดบริการทุกวัน Open Daily 7.00 -19.00

๓๐ สิงหาคม ๒๕๕๒

กรุณา กุศลาสัย

ในบรรดานักเรียนอินเดีย แทบจะไม่มีใครเลยที่จะไม่รู้จักอาจารย์กรุณา
กุศลาสัย ถ้าไม่เคยพบอาจารย์ในสถานทูตอินเดียหรือเข้าฟังปาฐกถาของอาจารย์โดยตรง ก็ต้องเคยอ่านหนังสือไม่เล่มใด ก็เล่มหนึ่งของอาจารย์กรุณา

เพื่อเป็นการน้อมส่งดวงวิญญาณอาจารย์กรุณา ขออนุญาตินำบทความของอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ที่เอื้อเฟื้อฝากเลขาฯส่งมาให้ข้าพเจ้าทางอีเมล์ มาลงในบล็อค เพื่อเป็นการรำลึก และเผยแพร่ชีวิตที่ยิ่งใหญ่ของอาจารย์กรุณาให้พวกเราได้สดับรับรู้ ดั่งนี้

แด่นายกรุณา กุศลาสัย

(๑๐ พฤษภาคม ๒๔๖๓ – ๑๓ สิงหาคม ๒๕๕๒)

นายกรุณา กุศลาสัย ตายจากไป ณ บ้านลูกชาย ทางฝั่งธนบุรี เมื่อวันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๕๒ ซึ่งตรงกับวันพระ แรม ๘ ค่ำ เดือน ๙ ปีฉลู ค.ศ. ๒๐๐๙ นับอายุได้ ๘๙ ปีเศษ โดยไม่ได้เจ็บไข้ได้ป่วยเอาเลยก็ว่าได้ คือสิ้นลมปราณไปอย่างสงบ เพราะสิ้นอายุขัย นับว่าเป็นกุศลสมาจาร ซึ่งหาได้ยากในสมัยปัจจุบัน และการจากไปของบุรุษอาชาไนยของสยามผู้นี้ ก็ดูจะไม่เป็นที่สนใจของผู้คนในกระแสหลักของสังคม ซึ่งคงลืมเขาไปเสียแล้วก็ได้ ทั้งๆ ที่เขามีคุณูปการกับบ้านเมืองมามิใช่น้อย และวิถีชีวิตของเขาก็เป็นแบบอย่างในทางของปูชนียบุคคลที่หาได้ยาก หากสมัยนี้ เราไม่ยกย่องเชิดชูคนดีกันอีกแล้ว เราสนใจแต่คนเด่นคนดังและคนที่มีชาติวุฒิอันจอมปลอม หรือคนที่สวมหัวโขนอันโก้หรูไว้ หากภายในหน้ากากนั้นเต็มไปด้วยความกักขละและโสมม มากบ้างน้อยบ้างแทบทุกคน พร้อมกันนั้น เราก็ต้องตราไว้ว่านายกรุณาไม่ต้องการเกียรติยศชื่อเสียงใดๆ ไม่ต้องการอนุสาวรีย์ หรือคำยกย่องสรรเสริญใดๆ ตามสมัยนิยม หากเขาปิดทองหลังพระมาเกือบจะโดยตลอด และเขาต้องการให้ชื่อเสียงของเขาจางหายไปตามทางของพระอนัตตลักษณะ โดยเขาเป็นคนที่ติดยึดในตัวตนน้อย พร้อมที่จะยกย่องเชิดชูผู้อื่น โดยที่เขาเคยได้รับเกียรติยศจากภารตประเทศ ยิ่งกว่าจากประเทศบ้านเกิดเมืองนอนของเขา ซึ่งนอกจากจะเนรคุณเขาด้วยการจำจองเขาเป็นเวลานาน โดยหาความผิดไม่ได้แล้ว ยังเมินเขาเสียอีกก็ว่าได้ ทั้งนี้รวมถึงสถาบันที่เขามีส่วนร่วมปลุกปั้นมาแต่แรกด้วย เช่น มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และอาศรมไทยภารต
การที่เขาได้เป็นศิลปินแห่งชาติ หรือรางวัลศรีบูรพานั้น ก็หามีความสำคัญอันใดไม่ เพราะการยกย่องผู้คนในสังคมไทย ขาดมาตรฐานอันมุ่งที่ความเป็นเลิศอย่างแท้จริง
อัตชีวประวัติของเขาเรื่อง ชีวิตที่เลือกไม่ได้ นั้น เขียนเล่าให้ลูกๆ ฟัง อย่างอ่อนน้อมถ่อมตน และอย่างน่ารับฟัง แถมเขายังแปลเป็นภาษาอังกฤษให้ได้รับรู้กันในวงกว้างออกไปยังนานาชาติอีกด้วย แต่ถ้าเราอ่านในระหว่างบันทัดก็จะเห็นได้ ว่าชีวิตของเขา เป็นชีวิตที่เขาเลือกได้ และเลือกแล้ว ที่จะเป็นคนเอาชนะอุปสัค และความยากจน หากเขาเลือกเดินตามทางของสาธุชน ด้วยวิริยะ อุตสาหะ โดยเขาแสวงหากัลยาณมิตรได้มาตลอด และเขามองคนในแง่ดี แม้จะเห็นข้อบกพร่องของบุคคลนั้นๆ เขาก็เข้าใจและให้อภัย ประกอบไปด้วยความอดทน ความอดกลั้น และความเมตตากรุณาที่มีอยู่ในตัวเขา สมกับชื่อที่เขาตั้งให้ตัวเอง จากชื่อเดิมว่ากิมเฮง และนามสกุลของเขา ก็ยืนยันว่าเขาพึ่งพิงอยู่กับกุศลสมาจารอย่างแท้จริง
การที่เขาบวชเณรเมื่ออายุ ๑๓ ปี แล้วเดินตามพระโลกนาถ (ภิกษุอเมริกัน เชื้อสายอิตาเลี่ยน) ไปจนถึงอินเดียนั้น นับว่าเป็นความวิเศษมหัศจรรย์อันไม่มีผู้ใดเหมือน เพราะพระเณรที่ตามพระโลกนาถไปเป็นจำนวนมากนั้น ไม่ว่าจะปัญญานันทะภิกขุ หรือใครก็ตาม ล้วนเลิกล้มความตั้งใจกันกลางคันทั้งนั้น โดยมักจะกล่าวหาว่าพระฝรั่งหูเบา เพื่อนสหธรรมิกปราศจากสามัคคีธรรม หรือต่างก็ปราศจากขันติธรรมจนถึงขนาดก็ได้ แต่นายกรุณาไม่เคยโอ้อวดถึงความมหัศจรรย์ที่เขาเดินทางจนถึงจุดหมายปลายทาง แม้ญาติโยมทางพม่าจะชวนให้เณรน้อยสึกหาลาเพศ แถมจะยกลูกสาวให้ที่ประเทศนั้นเสียด้วยซ้ำไป
ทัศนะของนายกรุณาที่มีต่อพระโลกนาถนั้นเป็นไปในทางบวก อย่างเคารพนับถือ และยกย่องสรรเสริญ จนตลอดชีวิต ในขณะที่พระไทยส่วนใหญ่ไม่เห็นคุณค่าของพระคุณท่าน ดังพระไทยส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เห็นคุณค่าของพระฝรั่งมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว เพราะถือตนว่าสูงส่งกว่าท่านนั้นๆ ดังท่านพระญาณดิลก (ชาวเยอรมัน) ก็เขียนเล่าไว้ในอัตชีวประวัติท่านอย่างน่าพิจารณา โดยที่เราเพิ่งมาเห่อพระฝรั่งสายท่านพระอาจารย์ชา สุภัทโทกันเมื่อเร็วๆ นี้เอง แต่พระมหาเถระที่อิจฉาท่านนั้นๆ ก็ยังมีอีกมาก และฆราวาสที่เห่อพระฝรั่งสายนี้ ก็ดูจะเป็นคุณหญิงคุณนาย และพวกที่ชอบความทันสมัยเสียแหละมากกว่าอะไรอื่น ที่จะให้ใครพวกนี้สนใจถึงโครงสร้างทางสังคมอันอยุติธรรมและรุนแรง แทบจะหาไม่ได้เอาเลย และพระสายนี้ก็ไม่เคยสอนธรรมในแนวนี้ ทั้งๆ พุทธมามกะซึ่งเป็นชนชั้นสูงในสังคมไทยนี้แลคือเป็นส่วนที่สำคัญอันธำรงโครงสร้างอันอยุติธรรมดังกล่าวไว้ ถ้าตีประเด็นนี้ไม่แตก ศีลจักเป็นความเป็นปกติของบุคคลและสังคม ตามความหมายที่แท้ ที่พระบรมศาสดาตรัสสอนไว้ได้ละหรือ
ว่าจำเพาะนายกรุณา เมื่อยังบรรพชาเป็นสามเณรอยู่ในชมภูทวีปนั้น ได้เรียนภาษาฮินดี บาลี สันสกฤต และอังกฤษ อย่างลำบากยากเข็ญ และด้วยวิริยะอุตสาหะ ประกอบกับสติปัญญาซึ่งแฝงความเป็นเลิศไว้ จนสอบได้ภาษาฮินดีเป็นที่หนึ่งของประเทศเอาเลย และได้เข้าเรียนในสันตินิเกตันของท่านรพินทรนาถ ฐากูร ร่วมสมัยกับนายเฟื้อ หริพิทักษ์ ดังอาจถือได้ว่ารัตนมณีของไทยทั้งคู่นี้ได้รับการเจียรไนที่สถาบันการศึกษานอกระบบของอินเดียอย่างเหมาะสมยิ่ง และอาจกล่าวได้ว่าคนที่ไปเรียนอินเดียต่อแต่นั้นมา จะหาใครที่เข้าถึงอารยธรรมของภารตประเทศอย่างถ่องแท้ดังนายกรุณา คงหาได้ยาก ส่วนมากไปรับเอากากเดนการศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ของประเทศนั้นมาอย่างกึ่งดิบกึ่งดี โดยที่หาความเป็นเลิศได้ยากเต็มที นี้นับว่าน่าละอายยิ่งนัก
ในสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่แล้ว คนสำคัญของไทย เกือบจะไม่ไปอินเดียกัน มีสองท่านผู้ใหญ่ที่ไปและได้พบสามเณรกรุณา โดยที่ทั้งสองท่านนี้ชื่นชมเณรหนุ่มรูปนี้ทั้งคู่ ดังสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ถึงกับทรงรับเป็นโยมอุปัฎฐาก และสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ ตรัสชวนให้สามเณรไปอยู่วัดบวรนิเวศ โดยไม่ทรงรังเกียจความเป็นมหานิกายของเธอ ส่วนพุทธทาสภิกขุนั้นได้ติดต่อทางจดหมายกับเณรน้อยรูปนี้ อย่างต่างก็รับฟังจากกันและกัน และได้เป็นกัลยาณมิตรกันตลอดมา
น่าเสียดายที่สามเณรกรุณาต้องลาสิกขา เพราะไทยประกาศสงครามกับอังกฤษ ซึ่งปกครองอินเดีย นายกรุณาจึงถูกจองจำในฐานะชนชาติศัตรู เฉกเช่นนายเฟื้อ หริพิทักษ์ด้วยเหมือนกัน
ในค่ายกักกันนี้แล ที่หนุ่มกรุณาพบรักครั้งแรกกับสาวญี่ปุ่น ที่เป็นชนชาติศัตรูของอังกฤษเช่นเดียวกับไทย หากแล้วก็แคล้วคลาดกันไป โดยที่นายเฟื้อนั้นถูกพรากไปจากศรีภรรยา คือ ม.ร.ว. ถนอมศักดิ์ กฤดากร จนเกิดอาการวิกฤตศรัทธา ถึงกับไปรับเอาพระนารายณ์เป็นเจ้ามาเป็นสรณะ ดังได้เปลี่ยนนามสกุลจากทองอยู่ มาเป็นหริพิทักษ์
เมื่อเสร็จสงครามแล้ว อังกฤษเอาเชลยไทยส่งคืนประเทศ แต่อ่าวไทยยังเต็มไปด้วยทุ่นระเบิด อังกฤษจึงปล่ยนายกรุณาไว้ที่สิงคโปร์ ให้เดินนับหมอนไม้รถไฟกลับกรุงเทพฯ ผ่านประเทศมลายู ซึ่งเขาเล่าว่าได้รับความเมตตาปราณีจากเพื่อนมุสลิมในประเทศนี้อย่างดียิ่ง
นายกรุณาเริ่มทำงานให้สถานทูตอินเดียที่กรุงเทพฯ เมื่อประเทศนั้นเปิดสัมพันธไมตรีกับไทย หลังจากที่อินเดียได้รับเอกราช และเขาร่วมสอนภาษาสันสกฤตและฮินดีให้ที่อาศรมไทยภารตด้วย และจากการสอนภาษาฮินดีนี้แล ที่ศิษย์สาวคนหนึ่งเกิดสมัครรักใคร่กับครู จนได้เป็นสามีภรรยากัน และอยู่กินด้วยกันอย่างเป็นคู่ชีวิตที่หาคู่อื่นใดเสมอเหมือนได้ยาก ดังต่อมานางเรืองอุไร ผู้ภริยาตาบอด สามีก็ปรนนิบัติวัตถากอย่างใกล้ชิด เวลาภริยาไปประชุมที่ราชบัณฑิตยสถาน สามีก็พาไปส่งและรับกลับ หากทั้งคู่ไม่ยอมสมัครเป็นภาคีสมาชิกของสถาบันดังกล่าว เพราะทั้งคู่เห็นว่าการเป็นราชบัณฑิตด้วยการกระเสือกกระสนไปให้เขาเลือกมาอีกทีนั้น เป็นเกียรติยศที่จอมปลอม แม้ทั้งคู่จะเก็บความข้อนี้ไว้อย่างเงียบๆ ก็ตาม ดังทั้งคู่นี้ไม่ยอมเปิดปากวิพากษ์วิจารณ์อะไรๆ ให้เป็นที่อื้อฉาว แต่ก็อดบอกความในใจให้กัลยาณมิตรวงในรับทราบไว้ด้วยเนืองๆ
ดังมติเกี่ยวกับการตั้งเจ้าอาวาสวัดชลประทานรังสฤษดิ์เป็นรูปแรกนั้น กัลยาณมิตรของนายกรุณาก็มีส่วนอย่างสำคัญ ดังท่านผู้นั้นก็ยอมรับว่า เขาเลือกพระผิดเสียแล้ว ที่จริงเขาเสนอชื่อพระอาจารย์ขาว แต่ท่านรูปนั้นปฏิเสธโดยที่คนในสมัยนี้ก็คงลืมพระอาจารย์ขาวไปแล้ว ดังที่คนก็จะลืมชื่อนายกรุณา ซึ่งได้รับใช้ใกล้ชิดเจ้าคุณพระพิมลธรรม (อาจ) แต่สมัยท่านมีบทบาทกับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในยุคบุกเบิกอย่างสำคัญ โดยพระอาจารย์ขาวก็เป็นอาจารย์สอนกัมมฐานที่สถาบันการศึกษาแห่งนั้นมาแต่สมัยแรกด้วย โดยที่นายกรุณากับเจ้าคุณพระพิมลธรรม (อาจ) นั้น นอกจากจะเป็นศิษย์กับอาจารย์กันแล้ว ยังเป็นกัลยาณมิตรของกันและกันอีกด้วย นายกรุณากล้าเตือนพระคุณท่านได้อย่างจังๆ จนภายหลังข้าพเจ้าก็อาศัยนายกรุณาส่งสารถึงพระคุณท่านได้ง่าย และอาจวิพากษ์วิจารณ์พระคุณท่านได้ด้วย หากพระผู้ใหญ่มีกัลยาณมิตร เป็นปรโตโฆษะ พระเถระนั้นๆ ก็ย่อมเจริญโยนิโสมนสิการได้ น่าเสียดายที่พระมหาเถระร่วมสมัยขาดกัลยาณมิตรกันแทบทั้งนั้น แถมยังไม่เจริญโยนิโสมนสิการอีกด้วย ความเป็นสมีและอลัชชีจึ้งเข้าครอบงำท่านผู้ทรงสมณศักดิ์สูงๆ เหล่านั้นกันอย่างน่าเสียดาย รวมทั้งในมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยอีกด้วย
นายกรุณาเป็นกัลยาณบุคคลที่มีกัลยาณมิตรมาตลอดชีวิต ตั้งแต่พระโลกนาถเป็นต้นมา จนถึงศรีภริยา ส่วนเพื่อนร่วมงานที่เป็นกัลยาณมิตรคนสำคัญนั้นมี ๒ คนคือ นายสังข์ พัธโนทัย และนายอารี ภิรมย์ โดยที่ทั้งคู่นี้เคยทำงานอยู่ที่กรมโฆษณาการ ซึ่งต่อมากลายเป็นกรมประชาสัมพันธ์ นายสังข์ ใกล้ชิดกับจอมพล ป. พิบูลสงคราม จนมีชื่อเสียงมัวหมองตามเผด็จการผู้นั้น แต่ด้วยความซื่อสัตย์จงรักภักดีกับเจ้านาย นายสังข์สามารถเกลี้ยกล่อมให้จอมพล ป. หันมาสนใจขบวนการกรรมกร และใช้นายสังข์เป็นนกต่อให้ หาทางสัมพันธ์กับสาธารณรัฐประชาชนจีน นายสังข์จึงต้องมาวานนายกรุณาและนายอารี ซึ่งเป็นเจ้าของโรงเรียนจีนด้วย และมีเส้นสายกับสมาชิกของพรรคคอมมูนิสต์จีน เป็นเหตุให้นายกรุณาและนายอารี เป็นทูตรุ่นแรกที่ได้ไปเมืองจีน จนได้พบโจเอินไหลและเมาเซตุง ดังทั้งคู่นี้เขียนเล่าไว้แล้ว และบำเหน็จที่ทั้งคู่นี้ได้รับคือการถูกจอมพล ส. ธนรัตน์จองจำไว้ในคุกลาดยาวเป็นเวลานาน ครั้นเมื่อไทยเปิดสัมพันธไมตรีกับจีนอย่างเป็นทางราชการ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช นักฉวยโอกาสที่เคยเกลียดจีนมาอย่างออกหน้า ก็ได้กลายเป็นพระเอกขี่ม้าขาวไปแสดงบทบาทอย่างเป็นที่ชื่นชมของทั้งจีนและไทย ในขณะที่นายอารีและนายกรุณาถูกลืมไปนั้นแล
ทางด้านภารตวิทยานั้น นายกรุณาและนางเรืองอุไร ผู้ภริยา ได้ผลิตผลงานออกมามิใช่น้อย ทั้งยังช่วยคนอื่นๆ ที่ต้องการเรียบเรียงเรื่องทางชมภูทวีปทุกๆ คน ที่ไปขอความอนุเคราะห์ ดังข้าพเจ้าก็ได้เป็นหนี้บุญคุณท่านทั้งสองนี้มาเป็นอันมาก
ใช่แต่เท่านั้น นายกรุณายังเป็นญาติทางข้างภริยาข้าพเจ้า มีอะไรๆ ที่ท่านและภริยาจะช่วยเหลือเกื้อกูลครอบครัวของเรา ท่านเต็มใจทำให้อย่างเต็มที่ ทั้งท่านยังช่วยกิจการของข้าพเจ้าทางมูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป และมูลนิธิโกมลคีมทองอีกด้วย ยิ่งมูลนิธิที่เอ่ยชื่อมาแต่แรกด้วยแล้ว สามีภริยาคู่นี้เคารพนับถือท่านเสฐียรโกเศศกับท่านนาคะประทีป ทั้งทางส่วนตนและส่วนรวม ดังอาจนับว่าทั้งคู่นี้สืบทอดเจตนารมณ์ของท่านเสฐียรโกเศศ และท่านนาคะประทีป ต่อมาอีกชั่วคนหนึ่งเอาเลยก็ว่าได้ ส่วนมูลนิธิโกมลฯ นั้นเล่า ก็มีเป้าหมายในการอุดหนุนอุดมคติสำหรับคนหนุ่มสาว ย่อมเป็นที่ชอบใจของนายกรุณาและศรีภริยายิ่งนัก
นายกรุณากินอยู่อย่างเรียบง่าย ทำโยคะเป็นกิจวัตรประจำวัน ในบั้นปลายแห่งชีวิต นายกรุณามีอาการหลงลืมบ้าง แต่ก็ไม่เลวร้ายนัก เคยไปพักบ้านคนชราเป็นบางคราว แล้วก็ได้กลับมาอยู่บ้านลูกชาย จนตายจากไปที่นั่นอย่างสงบ
การที่นายกรุณาตายจากไปคราวนี้ ที่น่าสงสัยก็คือ เราจะทำอะไรได้บ้าง เพื่อช่วยกันสรรสร้างให้มีคนอย่างนี้อยู่ร่วมสมัยกับเราต่อๆไป ทั้งในช่วงอายุเราและรุ่นลูกรุ่นหลานของเราด้วย ให้เขาเหล่านั้นได้เป็นทั้งคนดี ที่มีความรู้ และอุทิศตนเพื่อส่วนรวมอย่างปิดทองหลังพระ ดังที่เราสืบทอดวัฒนธรรมดังกล่าวกันมาในบ้านเมืองเราแต่ไหนแต่ไร ถ้าเราไม่อาจหาคนดีที่เป็นปูชนียบุคคลได้ โดยมีแต่คนกึ่งดิบกึ่งดีแล้วไซร้ ก็น่าห่วงอนาคตของสังคมไทยยิ่งนัก
ด้วยเหตุฉะนี้ พวกเราหลายคนที่เคารพท่านทั้งสองนี้ จึงคิดตั้งกองทุนขึ้นในนามว่า กองทุนกรุณา-เรืองอุไร กุสลาศัย เพื่อความเป็นไท ของเด็กและเยาวชน ผู้ที่สนใจใคร่ทราบวัตถุประสงค์ และนโยบายของกองทุนดังกล่าว อาจติดต่อขอรายละเอียดได้จาก http://www.semsikkha.org/, http://www.snf.or.th/ โดยที่จะบริจาคทรัพย์เป็นส่วนกุศลแด่ท่านทั้งสองนี้ก็ได้ ทางบัญชี มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป เพื่อกองทุนกรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัย ธนาคารไทยพาณิชย์ เลขที่บัญชี ๐๒๔-๒๖๙๒๕๙-๐ (หักภาษีได้ด้วย)

ส. ศิวรักษ์

๒๘ สิงหาคม ๒๕๕๒



เชิญร่วมฟังปาฐกถาพิเศษ
"เศรษฐกิจอาหารท้องถิ่น ทางเลือกและทางรอดที่เป็นจริง?"
โดย เฮเลนา นอร์เบิร์ก – ฮอดจ์
วันอังคารที่ ๘ กันยายน ๒๕๕๒ เวลา ๑๐.๐๐ – ๑๔.๐๐ น. ณ ห้องประชุมสมาคมนิสิตเก่ารัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

๒๗ สิงหาคม ๒๕๕๒

ราตรีนี้ที่พะเยา


พะเยาในราตรีนี้ช่างเงียบเหลือเกิน ดูซิ...ถนนไม่มีแม้แต่มด












("รก" นั้นงาม )

The moon on the lake


ค่ำแล้ว...........แม้ปราศจากสายตาจับจ้องของนักท่องเที่ยว
น้ำพุกลางทะเลสาบยังไม่หยุดพุ่งขึ้นฟ้าแล้วตกลงมาอย่างสิ้นหวัง

กลางดึกวันนั้นเอง...
พระจันทร์ดวงน้อย พลัดตกหลุมอากาศ
กำลังจะตกลงในทะเลสาบ

ช่วยด้วย ใครก็ได้ ช่วยฉันที!!

น้ำพุปรึกษากันถึงวิธีช่วยพระจันทร์

เราไม่มีอำนาจ เราต้องปรึกษาผู้ว่าก่อน น้ำพุอันแรกออกความเห็น

ใช่ ใช่ อย่างน้อยก็นายกเทศมนตรีต้องรับรู้ด้วย !!

ผมโยนชูชีพให้พระจันทร์

รับซักทีซิวะ ผมบ่นหลังจากโยนครั้งที่สาม

น้ำพุตะโกนบอกผมว่า ไอ้งั่ง พระจันทร์ ไม่มีมือ!!
ดาวที่อยู่กันเต็มฟ้า พยักหน้าเชิงเห็นด้วย

ผมเลิกโยนชูชีพขึ้นฟ้า
สูดกลิ่นอากาศรอบตัว
ตอนนี้ อากาศ เป็นกลิ่นของฤดูหนาวแล้ว









นั่นซินะ ผมควรกลับก่อนพระจันทร์จะตกลงมาสำลักน้ำ
ลอยอืด บวมพอง เน่าเหม็น ในยามเช้าอันสดใส
ใช่ซิ...พรุ่งนี้ย่อมดีเสมอ

๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๒

สถาบันอุตริศาสตร์ศึกษา (ภาคพื้นเอเชีย)


17 สิงหาคม 2552 พิธีเปิดสถาบันอุตริศึกษา

แม่ชีซาลาเปา ผู้นำพิธีฝ่ายฆราวาส (เสื้อส้ม)

พระครูศรี ประธานฝ่ายสงฆ์

ประธานสถาบันอุตริศึกษา

ภายในสถาบัน

ผู้บริหารสถาบันร่วมถ่ายภาพในชุดเป็นทางการในวันก่อตั้งสถาบัน

จากภาพ ผู้อำนวยการสถาบัน เลขา รองประธาน ประธาน
รองของรองประธานสถาบัน ตามลำดับ
ผู้กับกำใหญ่มาช่วยถ่ายภาพในวันเปิดสถาบัน

ผู้กำกับเขียนเมนูใหม่ในร้าน
พระจันทร์กระจ่างในเมนู เพิ่มความสุนทรีในการสั่งเครื่องดื่ม


เลขาฯสถาบันได้รับมอบหมายให้ไปซื้อไข่ลดราคา
สถาบันอุตริศาสตร์ศึกษาก่อตั้งขึ้นมาเพื่อศึกษา ค้นคว้า เรื่องอุตริที่เกิดขึ้นทั่วโลก
รับเรื่องร้องเรียนอุตริทั่วราชอาณาจักร รับจัดงานอุตริทุกประเภท
ไม่แสวงหาผลกำไร มุ่งสร้างองค์ความรู้เรื่องอุตริ พิศดารเป็นหลัก

๒๓ สิงหาคม ๒๕๕๒

“floater”

22 สิงหาคม 2552

วันนี้เห็นเส้นสีดำๆลอยไป ลอยมาในตาข้างซ้าย ตอนแรกคิดว่าเป็นเส้นผมที่ยาวมาบังตา

แต่พอใส่ที่คาดผมแล้วก็ยังเห็นชัด หาดูในอินเตอร์เน็ตก็เจอข้อมูลว่า

อาการมองเห็นจุดดำ หรือลูกน้ำลอยไปลอยมาผ่านเข้ามาในขอบเขตของการมองเห็นหรือลานสายตา

สิ่งนี้เรียกว่า “floater” อาการมักจะเด่นชัดเวลาที่มองไปที่พื้นผิวเรียบๆ เช่น ฝาผนังสีพื้น กระดาษเปล่า หรือท้องฟ้าเงาดำที่เห็นลอยไปมา หรือ floater นี้แท้จริงแล้ว คือ ส่วนของน้ำวุ้นตาที่ขุ่นเป็นจุด, ก้อน หรือเส้น หรือมีเซลล์อยู่ภายใน

น้ำวุ้นตา

(น้ำวุ้นตา หรือ Vitreous เป็นส่วนที่บรรจุอยู่ภายในลูกตาด้านหลัง โดยปรกติจะเป็นวุ้นใส โดยโครงสร้างภายในประกอบด้วยน้ำ 99% และโมเลกุลต่างๆ และเส้นใยอีก 1% น้ำวุ้นตาช่วยให้ลูกตาคงรูป และภาพผ่านไปตกที่จอประสาทตาได้ชัดเจน)

ขณะที่เรารู้สึกว่า เวลามองแล้วเหมือนมีอะไรลอยไปมาตรงหน้า แท้จริงแล้ว สิ่งที่เห็นนั้น ลอยอยู่ภายในลูกตาเราเอง แล้วทำให้เกิดเงามาตกบนจอประสาทตาด้านหลังลูกตา เราจึงรู้สึกถึง floater ได้ Floater อาจมีรูปร่างแตกต่างได้หลายแบบ เช่น เป็นจุดเล็ก ๆ เป็นวงกลม เป็นเส้น เป็นใยแมงมุมหรือเป็นกลุ่มก้อนเงาคล้ายกับก้อนเมฆ หรือรวงผึ้ง

สาเหตุของ floater เมื่อคนเราเข้าสู่วัยกลางคน น้ำวุ้นลูกตาจะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างจากวุ้นเป็นลักษณะที่เหลวเหมือนน้ำมากขึ้น และหดตัว เส้นใยที่เป็นโครงสร้างของน้ำวุ้นจะรวมตัวกันและหนาตัวเป็นจุด หรือเส้นภายในลูกตา การหดตัวของน้ำวุ้นตา จะทำให้น้ำวุ้นตาแยกจากจอประสาทตาด้านหลัง เรียกว่า Posterior vitreous detachment ทำให้มีจุดหรือเงาดำ หรือ floater เกิดขึ้น

โดยทั่วไปภาวะนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงปรกติที่พบได้ในคนสูงอายุอยู่แล้ว เรามักเรียกว่า “น้ำวุ้นตาเสื่อม” นอกจากนี้แล้วการเห็นจุดดำ หรือ floater นี้ พบได้ในคนที่มีสายตาสั้น,ได้รับการผ่าตัดต้อกระจก ฉายแสงเลเซอร์ หรือ มีการอักเสบภายในลูกตา

โดยปรกติ คนที่มี floater ก็ยังมีการมองเห็นชัดเจนปรกติ ความรู้สึกที่มีเงาดำลอยไปมา จะค่อย ๆ ลดลงไปเอง เมื่อเวลาผ่านไป และก่อให้เกิดความรำคาญน้อยลง แม้ว่าในบางคนอาจยังรู้สึกได้เป็นปี การเกิด floater จากการที่น้ำวุ้นตาเปลี่ยนแปลงเมื่อสูงอายุหรือที่เรียกว่าน้ำวุ้นตาเสื่อมไม่มีการรักษา

แต่ถ้ามี floater เกิดขึ้น ก็ควรได้รับการตรวจจากจักษุแพทย์ทันที เพื่อดูว่ามีการฉีกขาดของจอประสาทตาร่วมด้วยหรือไม่ เนื่องจากภาวะจอประสาทตาฉีกขาดหรือลอกต้องได้รับการรักษา มิฉะนั้นอาจทำให้สูญเสียการมองเห็นถาวรได้ ดังนั้น จึงควรพบจักษุแพทย์ ถ้ามีอาการต่อไปนี้

รู้สึกว่ามีเงาดำ หรือ floater ใหม่ เกิดขึ้นอย่างทันทีทันใด
รู้สึกมีแสงแปล๊บคล้ายไฟแฟลชกล้องถ่ายรูป (flashing) เกิดขึ้นในลูกตา
มีอาการมองเห็นผิดปรกติอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น การมองเห็นทางด้านข้างเสียไปหรือลานสายตาแคบลง ควรกลับไปพบจักษุแพทย์ เพื่อรับการตรวจว่ามีจอประสาทตาฉีกขาด หรือหลุดลอกหรือไม่

อ่านเสร็จ ก็ไปหาหมอ เพราะหมอเคยบอกว่าถ้ามีอาการเกี่ยวกับตาให้ไปหาหมอทันที

เนื่องจากโรค A.S. ที่เป็นสามารถทำให้เกิดอาการม่านตาอักเสบได้

คราวนี้เอาใหม่ ไปโรงบาลเอกชนมั่ง เพราะนึกภาพแล้วว่าถ้าไปโรงพยาบาลประจำจังหวัด วันนี้ทั้งวันคงไม่ต้องทำมาหาแดกอะไร นั่งถือบัตรคิว รอเผากงเต๊กอย่างเดียว

ขับรถฝ่าฝนไปที่โรงบาล เข้าไปปุ๊บ บอกอาการเจ้าหน้าที่ เขาให้เดินไปในห้องเจอหมอเลย !

เฮ้ยย! ตกใจเล็กน้อยกับความเร็ว เร็วขนาดนี้สิ่งที่ตามมาคงคือความแพง ทั้งกระเป๋ามีอยู่ 700 ภาวนาว่าคงพอจ่าย ถ้าเกินก็ยอมติดคุกละวะ

หมอบอกว่าจะต้องตรวจโดยการขยายม่านตา แต่การใช้ยาหยอดขยายม่านตานั้นจะมีผลไปอีก 6 ชั่วโมง นั่นแปลว่าเราจะขับรถกลับบ้านไม่ได้

แต่ไม่เป็นไร หมอว่าจะให้รถโรงบาลเปิดไฟวี้หว่อไปส่งถึงบ้าน ผมเริ่มกลืนน้ำลาย (บริการขนาดนี้ แพงแน่ๆ)

มาถึงขนาดนี้แล้ว ยังไงก็ต้องตรวจ ผมไปนอนให้พยาบาลหยอดยาขยายม่านตาทุก 5 นาที นอนอยู่ประมาณครึ่งชั่วโมง ได้ยินพยาบาลบ่นเบาๆว่า ทำไมไม่ขยายซักทีนะ (นอนนึกในใจว่านี่เป็นประโยคบอกเล่ารึประโยคคำถามวะเนี่ย)

นอนซักพัก พยายาบาลมากระซิบ อีก5 นาทีนะคะ ผมค่อยๆลืมตา ได้ผล ยาออกฤทธิ์แล้วแน่แท้ ตอนนี้ภาพที่เห็นทั้งเบลอ ทั้งฟุ้ง ทั้งจ้า เหมือนใส่ฟิลเตอร์ซอฟในกล้องถ่ายรูป เดินเซๆไปหาหมอคนเดิม เอาหน้าแนบกับเครื่องตรวจสายตา หมอใช้เลนส์ขยายส่องดูพร้อมไฟฉายเล็กๆส่องดูอย่างละเอียด

ม่านตาตอนนี้ขยายมากกว่า 10 เท่า เจอแสงไฟจากไฟฉายก็ถึงกับแสบทีเดียว หมอเช็คดูอย่างละเอียดและก็บอกว่าเป็นอาการ “floater” เส้นพวกนี้ไม่มียาหยอดที่จะทำให้มันหายไปได้ แต่มันไม่ทำอันตรายอันใดดอก เพียงแต่รำคาญ ดังนั้นหมอจะให้เพียงยาหยอดตาธรรมดาไปหลอดหนึ่งเท่านั้น ถ้ามีอาการอื่นใด เช่นเห็นแสงฟ้าแล่บ หรือตามัวลง ค่อยมาพบกันใหม่ในโอกาสหน้า

ส่วนอาการข้างเคียงจากโรค A.S.(Ankylosing Spondylitis) นั้น ยังไม่พบ แสดงว่าอาการยังไม่ลุกลาม ขอให้เจ้าวางใจ แต่อย่าชะล่าใจ ในยุทธจักรล้วนเต็มไปด้วยอันตราย ถ้าให้ดี ขอให้เจ้าวางกระบี่ ล้างมือจากยุทธจักรเสีย

ผมก้มลงคาราวะท่านหมอ แล้วร่ำลาออกมา

เท่านี้ก็โล่งใจไปได้นิดหนึ่ง เดินหยีตาถือกระบี่ไปรอหน้าช่องการเงิน

หน้าช่องจ่ายตังค์เจ้าหน้าที่ทักผมก่อนว่า "มีบัตรส่วนลดมั้ยคะ" ผมบอก หา! บัตรส่วนลด?

ผมมีแต่คูปองสะสมห้าโรคฟรีหนึ่งโรคอะคับ


โอ้...นี่โรงบาลหรือโลตัสวะเนี่ย

บิลออกมาที่ 590 บาท เป็นค่าตรวจ ค่าหมอ ค่าอุปกรณ์ และค่าวินิจฉัยว่าเป็น “floater”

ส่วนการรักษาทำไม่ได้ และก็ยังไม่มีใครทำ (คงไม่จำเป็นละมัง)

ขั้นตอนทั้งหมดเกิดขึ้นในช่วงเวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง นี่ถ้าเข้าโรงบาลป่านนี้คงถือบัตรคิวรอเรียกเพื่อจำแนกคนไข้อยู่ละเนี่ย แต่อย่าลืม ทั้งหมดนั้น ฟรี!!

จ่ายตังค์เสร็จเดินออกไปนอกโรงบาล แสงตอนกลางวันในขณะฝนตกปรอยๆไม่น่าจะแสบตาได้ขนาดนี้

นึกถึง รถพยาบาล ที่หมอบอกว่าจะให้ไปส่ง อยู่ไหนวะ จ่ายตังค์เสร็จไม่เห็นสนใจกูเลยว่าจะกลับยังไง

ตอนนี้เข้าใจพวกผีดิบแล้วว่า ทำไมกลัวแสง แสบตาจริงๆจนต้องหลับตา

เดินหรี่ตาพร้อมน้ำตาที่ย้อยอาบแก้มเข้าไปกระซิบกับพนักงานแปล พี่ๆ ขับรถไปส่งผมหน่อย ผมเพิ่งผ่าตัดลูกตาใหม่ มองยังไม่ค่อยชัด

ได้ผล พนักงานแปลใจดีเดินถือกุญแจลุยฝนไปเอารถที่ลานจอดรถและขับไปส่ง

นี่ถ้าเอารถโรงบาลไปส่งแม่คงนึกว่าเขาเอาศพลูกชายมาส่งแน่ๆ

ปีนี้ชีวิตก็ยังวนเวียนอยู่แถวโรงบาล เฮ่อ...