เปิดบริการทุกวัน Open Daily 7.00 -19.00

เปิดบริการทุกวัน Open Daily 7.00 -19.00

๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒

หลวงพระบางรำลึก

ย้อนกลับไปปี 2007 ช่วงทำงานที่เวียงจันทน์ ได้มีโอกาสเดินทางไปหลวงพระบางคนเดียว ถือเป็นการเดินทางไปหลวงพระบางครั้งที่สอง ครั้งนี้ผมทำตัวไฮโซนั่งสายการบินลาวจากเวียงจันทน์ไปลงที่หลวงพระบางนับเป็นครั้งแรกที่ได้นั่งเครื่องบินรัสเซีย แบบใบพัด(บินครึ่งชั่วโมง ค่าตั๋วสี่พันกว่าบาท เพราะตั๋วเครื่องบินภายในประเทศสำหรับชาวต่างชาติจะแพงกว่าของประชาชนเขา แต่ก็ไม่อยากนั่งรถเมล์ หว่า 12 ชั่วโมงเหมือนตอนมาหนแรก) ครั้งแรกผมมากับพระที่เข้าอบรมตอนต้นปี มากันสองคันรถ ผมได้นั่งเก้าอี้เสริมบนรถเมล์ และรถก็เสียอีกหลายชั่วโมง (ขากลับตอนนั้นเป็นช่วงตรุษจีน ผมได้นั่งเรือด่วนกับอาจารย์สุลักษณ์และกล้านักเรียนศิลปะจากเมลเบริน เหมาเรือขาเดียวจากหลวงพระบางมาเชียงของในราคา 10,000 บาท ในเวลา 6 ชั่วโมงกว่าๆ) ครั้งนี้ ร่อนเร่คนเดียวประมาณ 3 วัน รู้สึกดีมากที่ได้อยู่คนเดียวจนได้กำหนดนัดเจอพี่ชายที่เดินทางมาจากชลบุรี นัดเจอกันที่สนามบินหลวงพระบาง หลังจากนั้นก็ได้ยืมมอเตอร์ไซค์เพื่อนชาวลาวที่ทำงานในยูเนสโก้ ฝ่ายมรดกโลก ตระเวนเที่ยวเป็นเวลา 1 สัปดาห์




น่าแปลกที่ช่วง 3 วันแรกในหลวงพระบาง ได้มีโอกาสพบกับคนไทยมากมายที่โชคดีก็คือ
ได้พบคุณธีรภาพ โลหิตกุล ตากล้องนักเขียนสารคดีที่เราชื่นชอบ ผมเคยไปฟังพี่ธีรภาพครั้งแรกที่วัดประทุมคงคา(กรุงเทพฯ)เรื่องประวัติศาสตร์เพื่อนบ้าน และมาเจอโดยบังเอิญอีกครั้งบนพระธาตุพูสี หลวงพระบาง(แต่พี่เขาคงจำผมไม่ได้หรอก) เกสเฮ้าท์ที่พักก็ยังติดกับร้านอาหารอินเดียอย่างนาซิม ที่เราเป็นลูกค้าประจำในเวียงจันทน์เด็กเสริฟหลายคนที่รู้จักและจำกันได้(เพิ่งมารู้ว่าเขามีสาขาที่หลวงพระบาง) ช่วงวันที่สองเราก็จะคุ้นหน้านักท่องเที่ยวที่จะพบกันในวัด ในร้านอาหาร จนทักทายกันได้ คงจะเหมือนเวลาที่อยู่ปายนานๆและทำให้รู้จักผู้คนทั่วไปหมด เมืองเล็กน่ารักคล้ายกัน และเมืองเล็กทั้งสองก็กำลังแย่เหมือนกัน โชคดีที่หลวงพระบางมียูเนสโกและกระทรวงวัฒนธรรมลาวที่เข้มแข็งคอยดูแล แต่ชาวบ้านจริงๆจะได้อะไรหรือไม่ ผมไม่แน่ใจ

หลวงพระบางตอนนั้นเพิ่งมีกฎห้ามชาวต่างชาติเช่ารถมอเตอร์ไซค์ในหลวงพระบาง เพราะมันสร้างความเดือดร้อนรำคาญแก่ชาวบ้าน โดยเฉพาะเมื่อฝรั่งพวกนี้เมาได้ที่ ตอนนี้ก็เลยเห็นเฉพาะชาวฝรั่งปั่นจักรยานกันอย่างเดียว เชื่อได้เลยว่าประเทศไทยไม่กล้าออกกฏอย่างนี้เป็นแน่ เพราะประเทศไทยถือว่า นักท่องเที่ยวคือพระเจ้า ไม่กล้าขัดใจ ทั้งๆเวลาที่คนเอเชียอย่างเราไปบ้านมัน มันก็ไม่เคยให้เกียรติ และเห็นหัว(ดำๆของเอเชียเลย)ตัวผมพอพูดลาว(สำเนียงเยงจันทน์)ได้บ้าง ก็อาศัยขับรถมอเตอร์ไซค์ของเพื่อนตระเวนไปที่ต่างๆได้ แม้แต่ค่าตั๋วเข้าชมก็ยังไปจ่ายในอัตราคนลาว เรียกได้ว่าไปอยู่กินบ้านเขา และยังจะไปเอาเปรียบเขาอีก (วัดพระแก้วเราก็เก็บชาวต่างชาติ 200 บาท ส่วนคนไทยฟรีเช่นกัน) สำนึกได้ไม่นานมานี้เองครับ




วัดแห่งนี้ เจ้าฟ้าที่จะขึ้นเป็นกษัตริย์หลวงพระบางต้องมาบวชที่วัดนี้ทุกพระองค์


ขากระทิง และเม็ดหมากค้อ(รสมันๆเหมือนอะโวคาโด โลละ 80 บาท-หรือ 20,000กีบ)
เข้าสู่ความมืด หมอกยามเย็น ชวนให้เหงาดีแท้
สารพัดกล้องบนพระธาตุพูสี

ฝรั่งหามุมถ่ายรูปบนพระธาตุพูสีได้หวาดเสียวดีมาก




ไม่รู้ว่า หลวงพระบางตอนนี้เป็นอย่างไร เมืองที่สงบจะถูกคนไทยขาช้อปไปถล่มเละ เหมือนที่ปายหรือไม่คอยดูกันต่อไปครับ.....

๓ ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

โห พี่ต้าร์ชีวิตพี่นี่น่าอิจฉาเป็นที่สุดเลยอะ
หลวงพระบางสวยจัง ขอบคุณมากที่ช่วยแบ่งปัน
ประสบการณ์ให้สาธารณชนได้ดู
เคยฝันว่าอยากเดินทางไปหลายๆที่
แต่ชีวิตก็มาติดอยู่กะงานที่ประจำ(เจ)มาก
แต่ก็ไม่เบื่อนะ ตราบใดที่ได้ตังค์ ได้อยู่ใกล้พ่อกะแม่
ถ้าพี่ไม่ลำบากหรือขี้เกียจซะก่อน โพสต์อีกนะ
อินเดีย เนปาล ที่ไหนก็ได้ นานเท่าไหร่ไม่ว่า
เราจะรอดู มันเหมือนได้ไปในที่นั้นผ่านเลนส์กล้องของพี่อะ ขอมากไปปะเนี่ย...

ปล.ไอ้ที่คนเสื้อม่วงเค้ากินนั่นอะไรอะ กินหมดนั่นท้องคงแตกพอดี ว่ามะ

อดิศักดิ์ ด่านพิทักษ์ กล่าวว่า...

ไอ้คนเสื้อม่วงนั่นก็คือ พี่เอี่ยวครับ

นั่นเป็นอาหารมื้อสุดท้ายที่กินก่อนกลับชลบุรี

กินไม่หมดหรอกครับ ห่อไปกินต่อที่ชลบุรีได้อีก สองมื้อ ซื้อที่หลวงพระบางตอนเช้า เที่ยงที่กรุงเทพ เย็นที่ชลบุรี อันเดียวกินสามมื้อครับนั่น

เวลาเอาเรื่องเก่าๆมาลงรู้สึกว่าตัวเองแก่เยอะเลยครับ

เพราะเริ่มชอบเล่าความหลังแล้ว

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณมาก ๆ นะครับ