“คนที่มีการศึกษาสูงมีแนวโน้มจะยึดถือคุณค่าแบบเสรีนิยมและประชาธิปไตย”
ถ้าทฤษฎีฝรั่งพื้นๆ แบบนี้เป็นความจริง เราก็น่าจะอนุมานได้ว่า คนที่รังเกียจคุณค่าแบบเสรีนิยมและประชาธิปไตยมีแนวโน้มจะเป็นคนที่มีการศึกษาต่ำในประเทศไทย คนกลุ่มไหนที่รังเกียจเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ ดึงดันให้คง(หรือกระทั่งเพิ่มอัตราโทษ)กฎหมายที่จำกัดและริดรอนเสรีภาพในด้านต่างๆ เอาไว้ และนิยมอ้างความชอบธรรมจากกฎเกณฑ์ตามจารีตประเพณี?
คนกลุ่มไหนที่หวาดระแวงประชาธิปไตย เกลียดชังการเรียกร้องความเสมอภาคทางการเมืองที่แสดงออกผ่านการเลือกตั้ง หมิ่นแคลนเจตนารมย์ของคนส่วนใหญ่ และดื่มด่ำกับวัฒนธรรมที่เน้นลำดับชั้นสูงต่ำของคนในสังคม?ไม่จำเป็นต้องเหน็ดเหนื่อยมองหา แค่หลับตาก็เห็นแล้วว่ากลุ่มคนที่มีคุณสมบัติข้างต้นอย่างเพียบพร้อม คือชนชั้นกลาง(และ “ขุนนาง อำมาตย์ เสนาบดี แม่ทัพ”)ไทยชื่อกระฉ่อนนั่นเอง สมมติฐานสำคัญสำหรับการปฏิรูประบบการศึกษาไทยที่ถูกมองข้ามเสมอก็คือ ชนชั้นกลางไทยมีความโน้มเอียงจะเป็นพวกเล่าเรียนสูงแต่มีการศึกษาต่ำ
แน่นอนว่าค่านิยม “อเสรีนิยม” และ “อประชาธิปไตย” สามารถพบเจอได้ทั่วไปในผู้คนทุกหมู่เหล่าไม่ว่าจะคนชั้นล่าง ชั้นกลาง หรือชั้นสูง เพราะสังคมไทย(ราชการ+เอกชน)เป็นสังคมที่เชิดชูวัฒนธรรมไทย/ความเป็นไทยเหนือสรรพสิ่งในจักรวาล ทั้งนี้วัฒนธรรมไทยโดยหลักใหญ่ใจความเป็นวัฒนธรรมจารีตนิยม-อำนาจนิยม และ “จารีตนิยม-อำนาจนิยม” แบบไม่ลืมหูลืมตาเป็นปฏิปักษ์กับ “เสรีนิยม” และ “ประชาธิปไตย” อย่างมิอาจอยู่ร่วมแผ่นดินเดียวกันได้
ลึกๆ แล้วกระฎุมพีรอยัลลิสต์(ซึ่งไม่รู้ตัวว่าตัวเองก็เป็นไพร่)ไม่ต้องการให้ทุกคนนอกจากตัวเองเป็น “ประชาชน/พลเมือง” แต่ต้องการให้สังคมไทยมีทั้ง “ไพร่” และ “อำมาตย์” เพื่อตนเองจะได้ยังคงมีไพร่ไว้คอยรับใช้ มีอำมาตย์ไว้เป็นที่ยึดเหนี่ยวทางเกียรติยศและจิตใจ พร้อมทั้งฝันใฝ่ว่าสักวันหนึ่งจะได้เป็นอภิสิทธิชนกับเขาบ้าง โดยระหว่างนี้ก็คอยสมัคร-สะสม-ใช้บัตร Privilege ประเภทต่างๆ ไปพลางๆ ก่อน ถึงจุดหนึ่งแล้ว มันเป็นเรื่องยากมากที่จะกล่าวถึงกระแสการดูถูกเหยียดหยามคนชนบทภาคเหนือ-อีสานของคนชั้นกลางกรุงเทพฯ โดยไม่ดูถูกเหยียดหยามคนกรุงฯ เหล่านั้น
แต่ในเมื่อคนกรุงฯ เหล่านี้ไม่ได้มีการศึกษาและไม่ได้มีวัฒนธรรมพอจะสำเหนียกถึงท่าทีที่เรียกกันว่า “politically incorrect” ข้าพเจ้าก็คร้านที่จะพยายาม “politically correct” ด้วยให้เมื่อย ในบางที่ ประเด็น “politically correct” อาจทวีความซับซ้อนจนกลายเป็นเรื่องน่าเยาะหยันอย่างอุนุงตุงนังไปหมดแล้ว แต่ที่นี่ “politically incorrect” เป็นอาการสามัญธรรมดาในสังคมกึ่งอารยะ
ใช่ว่าจะดำเนินนโยบายเยี่ยงนี้ได้ทุกที่ในโลก แต่คุณลักษณะพิเศษของคนชั้นกลางกรุงเทพฯ ทำให้การต้องดูถูกพวกเขาอย่างถูกต้องเป็นวาระฉุกเฉินที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ในประเทศที่เจริญแล้ว การแสดงการดูถูกเหยียดหยาม เกลียดชัง ข่มขู่ เลือกปฏิบัติ และมีอคติทางชนชั้น เพศ เพศสถานะ เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ วัฒนธรรมและศาสนาความเชื่อในที่สาธารณะ ถือเป็นความผิดทั้งทางกฎหมายและทางแบบแผนวัฒนธรรมอันมีอารยะ สำนึกเสรีประชาธิปไตยที่เปิดกว้างเช่นนี้มักจะดำรงอยู่อย่างแพร่หลายในหมู่คนที่มีการศึกษาสูงมากกว่ากลุ่มคนที่มีการศึกษาต่ำ ในกลุ่มชนชั้นกลางมากกว่าชนชั้นแรงงาน และในเขตเมืองใหญ่มากกว่าเขตเมืองเล็ก เขตภูธรหรือชนบท
แต่ในเมืองไทย เราจะเห็นภาพของ “ลักษณะเฉพาะทางชนชาติ” ที่กลับตาลปัตรอย่างมีเอกลักษณ์อันน่าตื่นตาตื่นใจและน่าประกาศให้โลกรู้ พลันที่พรรคประชาธิปัตย์พ่ายแพ้การเลือกตั้งและพรรคเพื่อไทยกวาดคะแนนเสียงอย่างถล่มทลายในภาคเหนือและอีสานอีกครั้งหนึ่ง คนชั้นกลางกรุงเทพฯ ที่ไม่ได้เลือกพรรคที่ชนะต่างออกมาแสดงความคิดเห็นอย่างมีการศึกษากันอย่างทะลักทลาย
ต่อไปนี้คือการผลิตซ้ำเพื่อการซึมซับอย่างซาบซึ้งยิ่งขึ้น
“นอกจากจะเป็นภาคที่มีคนหน้าตาขี้เหร่ที่สุด ยากจนที่สุดแล้ว ยังโง่ที่สุดอีกด้วย”
“เหนือ, อีสานโง่กันดีนัก ให้ดินถล่มสูบลงนรกไปเลยท่าจะดี”
“ต่อไปคนอีสานจะตกงานทั่วประเทศ เพราะไม่มีคนรับทำงาน...รับพม่าดีกว่า”
“กำหนดสิทธิ์ในการเลือกตั้งให้เฉพาะผู้ที่เสียภาษีเงินได้ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า...กลุ่มคนเหล่านี้ต้องแบกรับภาระเลี้ยงดูประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ”
“เห็นได้ชัดว่า เสียงส่วนใหญ่ของประเทศนี้ คิดแต่เรื่องเงิน คิดแต่เรื่องปากท้องของตัวเองเพียงอย่างเดียว เห็นแก่ตัว ไม่คิดถึงประโยชน์ส่วนรวม และไม่ค่อยคิดอะไรไกลๆ “คิดสั้น” กันทั้งนั้น”
“ประชาธิปไตยนั้นเหมาะกับประเทศที่การศึกษาพร้อมแล้วเท่านั้น แต่ไทยแลนด์ยังไม่พร้อม”
“ทำไมภาคที่คนจนมากที่สุด ความรู้น้อยที่สุด ซื้อเสียงได้ง่ายที่สุดถึงมีจำนวน สส. มากที่สุด เท่ากับเปิดโอกาสให้พวกซื้อเสียงได้ง่ายๆ เข้ามาเหยียบย่ำประเทศได้เรื่อยๆ”
“ประเทศไทยมีคนจนเยอะกว่าคนรวย ช่วยคนจนให้มีกินไม่กี่วัน มันยอมขายสิทธิให้เหี้ยเข้ามาปกครอง”
“ทำไงดีครับ พวกผู้ก่อการร้ายเผาบ้านเผาเมืองชนะแล้ว เรียกทหารมาลุยดีมั้ยครับ”
“ชาวนา...เลือกมานักใช่มั้ยเผาไทยเนี่ย...ขอประกาศตัวไว้ก่อนเลยว่า ต่อไปนี้จะไม่ไปแดกมันแล้ว ข้าวน่ะ...จะกินก๋วยเตี๋ยว ราดหน้า ผัดไทย ผัดซีอิ๊ว ขนมปัง... “จน” กันต่อไปเหอะ พ่อ แม่ พี่ น้อง”
“เบื่ออีสานด้วยคน เบื่อเชียงใหม่ด้วย เลิกเที่ยวแล้ว”
“คนไทยก็ไม่ได้โง่ไปซะหมดจิงๆ แหละค้ะ...อย่างน้อยก้นี้แหละคนนึงที่ไม่ได้โง่เลือกพวกที่หมิ่นพระบรมเดชา เนรคุณแผ่นดิน จะเลือกเอามาให้มันสนตะพายเหรอ ไม่ใช่ความค้ะ คนฉลาดๆ มีการศึกษาเค้าไม่เลือกกันหรอกค่ะ แร้วเค้าก้ไม่ได้เหนเงินแล้วก้ตาโตสังเกตดูได้จากพลพรรครักเอยทั้งหลายแหล่ที่เลือกส่วนใหญ่ก้ได้คะแนนตามต่างจังหวัดทั้งนั้น ไม่ได้มีเจตนาดูถูกใครนะค้ะ นี้ก้คนบ้านนอกเหมือนกันค้ะ แต่พอดีว่าเกิดมาทันในยุคที่พอได้มีการศึกษาอ่านออกเขียนได้อยู่บ้างค่ะ”
“เรียนกันให้เยอะ อ่านหนังสือให้เยอะ เข้าใจอะไรให้เยอะๆ อย่าโง่ดักดาน ขอเถอะ หรือว่าบางกลุ่มยังดักดาน”
“วันนี้เมื่อ 235 ปีก่อนเป็นวันที่ชาวอเมริกันทุกคนได้ประกาศอิสระภาพอย่างชัดเจน (Independence Day) และวันนี้ของปีนี้ก็เป็นวันที่ประเทศไทยสูญเสียการปกครองระบอบประชาธิปไตยให้กับไพร่อย่างชัดเจนเช่นกัน”
“เสียงส่วนใหญ่มาจากไหนล่ะ อีสานไง ดูระดับก็รู้แล้ว คนระดับล่างไร้การศึกษาและไม่ได้รับข้อมูลเลือกเพื่อไทย แต่กทม.คนที่มีการศึกษามีคุณภาพเค้าเลือกปชป. ก็ตอบได้ว่าพรรคไหนดี ตรรกะแค่นี้ ง่ายๆ”
“ที่มันชนะก็เพราะคนอีสานนั่นแหละหูพิการ ตาบอด ก็เงี้ยแหละพวกคนลาว คนเขมรไม่มีการศึกษา”
ฯลฯ ถ้าความคิดเห็นต่างๆ ข้างต้นถือเป็นความคิดเห็นของชนชั้นกลางผู้มีการศึกษา ก็ต้องตั้งสมมติฐานกันว่า สังคมไทยเป็นสังคมที่ปลูกฝังสภาวะไร้การศึกษาผ่านระบบการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่ง ถ้อยคำและวัฒนธรรมดูถูกเหยียดหยามอันประจานจิตสำนึกอันต่ำทรามและเต็มไปด้วยความเกลียดชังเสียจนน่าขำแบบนี้ ทำให้เราไม่อาจตำหนิผู้พูด/พิมพ์ตามสำนวนถนัดปากว่า “พ่อแม่ไม่สั่งสอน” หรือ “พวกไม่ได้รับการอบรม” เพราะจริงๆ แล้วการพูด/พิมพ์ออกมาอย่างนี้นี่แหละที่น่าจะมาจากการสั่งสอนของพ่อแม่ชนชั้นกลาง และ/หรือการได้รับการอบรมอย่างดีเลิศจากสถานศึกษาไทย
ถึงจะได้รับการศึกษาในระบบแบบทางการหรือจบการศึกษาจากเมืองนอก แต่คนชั้นกลางไทยตามแบบฉบับซึ่งมักอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ เป็นกลุ่มประชากรที่มีสำนึกเสรีประชาธิปไตยต่ำ ตั้งแต่ต่ำปานกลางไปจนถึงต่ำเตี้ยเรี่ยราด
ถึงจะว่องไวกับเทรนด์ในโลกการสื่อสาร/บริโภคนิยม แต่คนชั้นกลางไทยกลับเลือกที่จะเปิดรับ แพร่กระจาย และเชื่อมั่นเฉพาะข้อมูลและการวิเคราะห์ที่ตอกย้ำและสอดคล้องกับอุดมการณ์หลักที่ถูกบ่มเพาะในสังคม ส่วนข้อมูลและการวิเคราะห์ที่ขัดแย้งกับความรักความศรัทธาเดิม พวกเขาจะปิดรับและโจมตีว่าเป็นโฆษณาชวนเชื่อล้างสมอง อันเป็นข้อหาเดียวกับที่พวกเขาได้รับเช่นกัน
ถึงจะเชื่อมั่นว่าตนเองมีคุณธรรมจริยธรรมสูงกว่าชาวบ้าน (ไม่ขายเสียง, ไม่ตีรันฟันแทง, ไม่เสพยาบ้า, ไม่ฆ่าสัตว์ - ซึ่งเป็น “บาป” หรือ “อาชญากรรม” ที่ไม่สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์กระฎุมพี) แต่คนชั้นกลางกรุงเทพฯ ก็ไม่มั่นใจว่าตนเองมีคุณธรรมจริยธรรมที่บริสุทธิ์ผุดผ่องเสียทีเดียว เพียงแต่เรื่อง “ไม่บริสุทธิ์” เหล่านั้นถือเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ, ให้อภัยได้, ใครๆ ก็ทำเป็นธรรมเนียม และกระทั่งไม่ถือเป็นเรื่องผิดจริยธรรม
ถ้าเรื่องที่หมิ่นเหม่ทางศีลธรรมของตนเองเป็น “ภาวะจำยอม” ในวัฒนธรรมเส้นสายและคอรัปชั่น แล้วทำไมเรื่องหมิ่นเหม่ของคนอื่นจึงเป็นสิ่งคอขาดบาดตายที่ละเว้นการพิพากษาไม่ได้ การมีศีลธรรมแบบเลือกปฏิบัติเช่นนี้ย่อมเป็นศีลธรรมที่มีมลทิน ข้าพเจ้าลองสุ่มตัวอย่างถามประชากรที่รู้จักคนหนึ่งซึ่งพื้นเพเป็นคนต่างจังหวัดแถบอีสานแต่เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ และการเลือกตั้งที่ผ่านมาก็เดินทางกลับไปใช้สิทธิที่บ้านเกิดด้วยความตั้งมั่นอันแรงกล้า “มีแจกเงินจริงมั้ย” ผู้ใช้แรงงานซึ่งเป็นคนชั้นกลางระดับล่างผู้อาศัยอยู่ในบ้านเช่าและไปไหนมาไหนด้วยมอร์เตอร์ไซค์ท่านนี้ตอบทันทีว่า “จริง” ข้าพเจ้าถามต่อว่า “แล้วคนเลือกพรรคนั้นเพราะเงินที่แจกเหรอ” เขาตอบว่า “ถ้าชอบถึงไม่แจกก็เลือก เพราะนโยบายของเขามันดีจริง เห็นผลจริง เงินเขามีเยอะมาก มันก็ต้องให้เป็นสินน้ำใจกันบ้าง”
ถ้าตัดเรื่องโครงสร้างเครือข่ายอำนาจและความสัมพันธ์ในชุมชนท้องถิ่นและการต่อสู้ฟาดฟันกันทางอุดมการณ์/การสร้างปีศาจทักษิณอันเป็นปัจจัยสำคัญในช่วงที่ผ่านมาแล้ว เอาเข้าจริง การที่คนชั้นกลางกรุงเทพฯ จำนวนมากซึ่งไม่ได้มีอุดมการณ์เสรีประชาธิปไตยและไม่ต้องการการปกครอง/บริหารประเทศที่ตัดสินจากผลการเลือกตั้ง มั่นใจว่าตัวเองไม่ขายเสียง(หรือไม่รับเงินแจก) อาจไม่ใช่เพราะยึดมั่นในจริยธรรมอย่างแรงกล้า แต่เป็นเพราะมูลค่าของสิ่งแลกเปลี่ยนไม่สูงพอ ไม่จูงใจพอ หรือไม่ตอบสนองความปรารถนาในวิถีชีวิตก็เป็นได้
ถ้าชาวบ้านได้รับเงินแจก 500 บาท ชนชั้นกลางกรุงเทพฯ ก็ควรได้รับสักหัวละ 500,000 บาท ไม่ใช่ได้ 500 บาทเท่ากันซึ่งกิน dinner มื้อหนึ่งบวก drinks & desserts แล้วยังไม่พอยาไส้เลย โดยจะคิดเสียว่าฉลาดรับแล้วก็ไม่จำเป็นต้องโง่เลือกพรรคที่แจกด้วยก็ได้
ข้าพเจ้าลองสุ่มตัวอย่างถามประชากรแถวๆ บ้านอีกคนหนึ่งซึ่งในการเลือกตั้งที่ผ่านมา ขับรถออกไปกากบาทที่หน่วยเลือกตั้งบริเวณปั๊มน้ำมันหน้าปากซอยว่า “ถ้ามีพรรคการเมืองมาแจกเงินให้หัวละห้าแสนบาทจะเอามั้ย?” คนชั้นกลางกรุงเทพฯ ท่านนี้ซึ่งมีการศึกษาสูงกว่าระดับปริญญาตรี, อาศัยอยู่ใน “บ้านมีรั้ว”, มีรถยนตร์ราคาเกินหนึ่งล้าน, ไปช้อปปิ้งกินอาหารตามร้านแพงๆ และท่องเที่ยวต่างประเทศตามโอกาส (กลุ่มเป้าหมายของพรรคประชาธิปัตย์เห็นๆ) ตอบแบบไม่ลังเลว่า “ห้าหมื่นก็เอาแล้ว!”
ข้าพเจ้าผิดหวังเล็กน้อยว่าเธอช่างเด็ดเดี่ยวเกินคาด น่าจะทำเป็นลังเลสักหน่อย แต่ก็ถูก, ข้าพเจ้าเห็นด้วยว่าห้าหมื่นก็ไม่เลว แม้ว่าได้ซักห้าแสนก็น่าจะดีกว่า และจริงๆ แล้วแค่ห้าพันก็พอถูไถ ส่วนห้าร้อยหรือต่ำกว่านั้นยังเป็นเรทที่ซื้อศีลธรรมและวุฒิภาวะทางประชาธิปไตยของคนชั้นกลางไม่ได้ และยังกลับช่วยให้คนชั้นกลางตะเบ็งได้อย่างฮึกเหิมขึ้นว่า “ชั้นไม่มีวันรับเงินซื้อเสียงแบบพวกมัน!”
แม้ว่าการเป็นคน “มีเงิน” จะเป็นสิ่งค้ำประกันความสุขสบายและสถานภาพทางสังคมเป็นขั้นต้น แต่ในจินตภาพของกระฎุมพีกรุงเทพฯ “เงิน” ที่จับต้องได้แบบ “ธนบัตร” หรือ “เหรียญ” น่าจะกำลังเสื่อมมนต์ขลังลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าธนบัตรหรือเหรียญนั้น “สกปรก” ซึ่งส่อว่าเป็นเงินที่ผ่านมือของชนชั้นแรงงานมาอย่างโชกโชน ไปซื้อของเซเว่นติดตลาดนัดหน้าปากซอยทีไร ข้าพเจ้าจะได้ธนบัตรทอนในสภาพทรุดโทรมย่อยยับแทบทุกครั้งไป แต่เมื่อไหร่ไปซื้อของในสถานที่ไฮโซสักหน่อย ธนบัตรที่ทอนกลับมามักจะใหม่สดจากแท่นพิมพ์แทบจะเอาไปอัดพลาสติกใส่กรอบติดผนังบ้าน
“เงินสด” ทั้งแบงค์ทั้งเหรียญ (แล้วยังเหรียญสลึงเหรียญห้าสิบตังค์อีก!) เป็นอะไรที่ “out” มากๆ มานานแล้ว มีติดกระเป๋านั้นคงต้องมี แต่สิ่งที่แสดงความโก้เก๋และอภิสิทธิ์ที่เหนือกว่า “เงินสด” ย่อมคือบัตรเครดิต ซึ่งยังแบ่งเกรดไปตามวงเงินตั้งแต่บัตรเงิน บัตรทอง บัตร Platinum และบัตร Black
“เงินสด” ในจินตภาพการซื้อขายเสียงในชนบทจึงยิ่งเป็นอะไรที่น่ารังเกียจสำหรับคนชั้นกลางไทย ฉะนั้นถ้าจะแจกเงินคนชั้นกลางกรุงเทพฯ กันจริงๆ ก็ควรโอนเข้าบัญชีไปเลย ไม่ต้องหยิบจับกันให้แสลงใจ
อย่างไรก็ดี หากจะจำกัดขอบเขตอยู่แค่การครองชีพตามไลฟ์สไตล์ทั่วๆ ไป “เงิน” อาจไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่สุดของชนชั้นกลางเสมอไป (โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงว่า ระบบการแลกเปลี่ยนที่มี “เงิน” มาเกี่ยวข้องในการเลือกตั้งถูกสร้างภาพให้เป็นวงจรอุบาทว์ของชนชั้นล่าง) เพราะในชีวิตประจำวันพวกเขาไม่ได้เดือดร้อนเรื่องเงินๆ ทองๆ ในการกินอยู่ตามปกตินัก สิทธิประโยชน์อื่นๆ กลับน่าจะมีความเย้ายวนมากกว่าด้วยซ้ำ แทนที่จะใช้เงินซื้อเสียงคนชั้นกลาง ใช้สิทธิพิเศษบางอย่างน่าจะโดนใจไลฟ์สไตล์ของกระฎุมพีมากกว่า อาทิเช่น แจกบัตรรับประกันว่ามีที่จอดรถฟรีทุกหนทุกแห่งทั่วกรุงเทพฯ ไม่ว่าตามห้างร้านหรือถนนหนทาง, แจกบัตรรับประทานอาหารบุฟเฟ่ต์และไม่บุฟเฟ่ต์ฟรีตลอดปีในโรงแรมหรูทุกโรงแรม, แจกตั๋วเครื่องบินชั้นบิสซินเนสคลาสไม่จำกัดเที่ยวบินไปไหนก็ได้ทั่วโลกตลอดปี, แจกบัตรวีไอพี ไปไหนก็เป็น “คนสำคัญมาก” ไม่ต้องเข้าคิว ไม่ต้องรอคอย ไม่ต้องโดนตรวจ และไม่มีใครบังอาจมาอ้างกฎระเบียบอะไรด้วย ฯลฯ
พรรคไหนแจก “สิทธิพิเศษ” แบบนี้ได้น่าเชื่ออย่างยิ่งว่าจะได้เสียงจากชนชั้นกลางกรุงเทพฯ แบบแลนด์สไลด์แผ่นดินไหวและอาจถึงขั้นธรณีสูบ และนั่นจะต้องเป็นจุดเริ่มต้นของการเสพติดนโยบาย “ประชานิยม” แบบแบงค็อกๆ อย่างไม่ต้องสงสัย นโยบายประชานิยมแบบกระฎุมพีกรุงเทพฯ ไม่ต้องการ “สิทธิพื้นฐาน” หรือการเข้าถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานเท่าใดนัก เพราะปกติเกิดมาก็มีเหลือเฟืออยู่แล้ว (ยกเว้นระบบที่ก้าวหน้ากว่าที่เป็นอยู่มากๆ เช่น รถไฟฟ้า รถใต้ดิน) ประชานิยมที่จะครองใจกระฎุมพีกรุงเทพฯ ได้คือประชานิยมที่มอบ “สิทธิพิเศษ” หรือ “อภิสิทธิ์” ในด้านต่างๆ ต่างหาก
การที่ไม่มีพรรคไหนสามารถแจกสิทธิพิเศษแบบนี้ได้จึงทำให้คนชั้นกลางกรุงเทพฯ เข้าใจผิดหลงคิดไปว่าตนเองเลือกด้วยอุดมการณ์และศีลธรรมอันสูงส่ง ปราศจากผลประโยชน์ส่วนตัวเจือปน
ในทางกลับกัน หากจะเลือกด้วยอุดมการณ์ที่ “ถูกต้องกว่า” หรือ “เข้าใกล้” หลักการสมัยใหม่ซึ่งมีอารยะกว่าหลักการสมัยเก่าจริงๆ การเลือกพรรคที่สนับสนุนรัฐประหาร ตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร ปราบปรามสังหารหมู่ประชาชน ส่งเสริมการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพ ละเมิดสิทธิมนุษยชน โกหกบิดเบือนข้อเท็จจริง ใส่ร้ายป้ายสีฝ่ายตรงข้าม ฯลฯ ก็ย่อมเป็นการเลือกด้วยอุดมการณ์ที่ไม่สูงส่งอย่างน่าสยดสยอง
ในอีกมุมมองหนึ่ง หากเอาหลักเสรีประชาธิปไตยที่เป็นที่ยอมรับในโลกสากลเป็นตัวประเมินค่าจริงๆ แล้วล่ะก็ การซื้อสิทธิ์ขายเสียงของ “คนชนบท” ก็ไม่ได้เลวร้ายและสร้างความมัวหมองให้กับอุดมการณ์ประชาธิปไตย “มากไปกว่า” การสนับสนุนการทำรัฐประหาร เรียกร้องอำนาจนอกรัฐธรรมนูญให้แทรกแซงกลไกประชาธิปไตย เห็นดีเห็นงามกับการล้มรัฐบาลที่ชนะการเลือกตั้งด้วยยุทธวิธีอันโสมมครั้งแล้วครั้งเล่า และปกป้องรัฐบาลหุ่นเชิดที่ไม่ได้ชนะการเลือกตั้งของ “คนกรุงเทพฯ” แถมยังมีความชอบธรรมและน่าเห็นอกเห็นใจมากกว่าอย่างเทียบกันไม่ได้ เพียงแต่เสียงประณามคนกรุงเทพฯ ไม่ดังและถูกประโคมให้เอิกเริกเท่าเสียงประณามคนชนบทเท่านั้นเอง
ถ้าสมมติให้การประณามด้วยเหตุด้วยผลเป็นวิธีลัดที่จะชี้ให้เห็นความผิดบาปอันนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไข คนชั้นกลางกรุงเทพฯ ก็หลงระเริงลอยนวลมานานเกินไปจากการไม่ถูกประณามเพียงพอ และการเอาแต่ประณามการซื้อสิทธิ์ขายเสียงของคนระดับล่างโดยไม่ประณามอุดมการณ์และพฤติกรรมต่อต้านประชาธิปไตยของคนระดับบน ก็เป็นเรื่องที่คู่ควรแก่การประณามเช่นกัน ยุคสมัยอันมหัศจรรย์ได้สร้างอาเพศทางสังคมนานาประการ การไม่เพียงไม่มีฉันทามติในเรื่อง “sense of decency” ของสาธารณชน “ที่มีการศึกษา” ของไทยในกรณีร้ายแรงที่มีพยานหลักฐานชัดเจนท่ามกลางความปั่นป่วนทางการเมืองในรอบห้าปีที่ผ่านมา แต่ยังใช้การพิพากษาทางศีลธรรมแบบไทยๆ ที่ผิดศีลธรรมสากล หรือหลักการพื้นฐานด้านมนุษยธรรมสากล คือสิ่งบ่งบอกถึงความวิปริตทางศีลธรรมของชนชั้นมีการศึกษาของไทยซึ่งกลับยังคงหลงเชื่อในความสูงส่งทางศีลธรรมของตนเองได้อย่างเหลือเชื่อ
การประกาศตนว่า “รังเกียจคนโกง” เป็นเครื่องหมายการค้าทางศีลธรรมของคนชั้นกลางกรุงเทพฯ แต่สิ่งที่น่ารังเกียจตามมาตรฐานสังคมศิวิไลซ์อื่นๆ คนชั้นกลางกรุงเทพฯ มากมายกลับไม่รังเกียจเลยแม้แต่น้อย เช่น วัฒนธรรมหมอบคลาน, การจำกัดสิทธิในการแสดงความคิดเห็น, การเอารถถังมายึดอำนาจรัฐ, การมีกระบวนการยุติธรรมที่ “อธรรม”, การข่มเหงรังแกคนด้อยอำนาจ, การนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนอย่างไร้จรรยาบรรณ ฯลฯ
การจำกัดการรังเกียจไว้แค่การ “โกงเงิน” (ของทักษิณและนักการเมือง) เป็นหัวใจหลัก สะท้อนว่าโลกทัศน์ของคนชั้นกลางกรุงเทพฯ หมกมุ่นแค่เรื่องเงินๆ ทองๆ (ซึ่งเป็นข้อหาที่คนกรุงฯ มีต่อคน “ชนบท”) แต่ไม่ยึดมั่นในคุณค่านามธรรมที่สำคัญอื่นๆ
ต่อให้มีความเชี่ยวชาญตามสาขาวิชาชีพอันแสนทันสมัย มีเกียรติ หรือใช้ทักษะชั้นสูง แต่ความคิดอ่านและการแสดงออกทางสังคมการเมืองของคนชั้นกลางไทยกลับมีลักษณะล้าหลัง (backward-reactionary) แบบพวกมีการศึกษาน้อย พวกโลกทัศน์คับแคบ พวกจารีตนิยม พวกเคร่งศาสนา และพวก(เชื้อ)ชาตินิยมจัดในโลกตะวันตก ซึ่งอาจมีชื่อเรียกแตกต่างหลากหลายไปตามภูมิศาสตร์และความถนัดเฉพาะทาง อาทิเช่น “ขวาอนุรักษ์นิยม” “Neo-Nazi” “White Supremacist” “Christian Fundamentalist” ฉลากเหล่านี้เป็นเทอร์โมมิเตอร์บอกอุณหภูมิความเป็นพวก “โลกแคบ” หรือ “บ้านนอก” และลักษณะล้าหลังตกขอบแบบนี้มักกระจุกอยู่ในชนกลุ่มน้อย มิใช่ชนกลุ่มใหญ่ของประเทศ
ถ้าการศึกษาแบบตะวันตกทำให้คนตะวันตกที่มีการศึกษามีแนวโน้มจะเป็นพวก “เสรีนิยม” ตามมาตรฐานปกติ การศึกษาแบบไทยๆ ตั้งแต่ออกจากช่องคลอดจนถึงรับปริญญาในมหาวิทยาลัยกลับหล่อหลอมให้คนไทยเป็นพวก “อนุรักษนิยม อำนาจนิยม ล้าหลัง” เพราะในประเทศอนุรักษนิยมอำนาจนิยมพรรค์นี้ การศึกษา = การปลูกฝังกล่อมเกลาอุดมการณ์ของรัฐราชการ = การล้างสมองด้วยโฆษณาชวนเชื่อ การศึกษาไทยไม่ได้วางอยู่บนฐานของอุดมการณ์ที่เชื่อในความเป็นปัจเจกของมนุษย์ผู้มีสติปัญญาที่จะเรียนรู้ โต้แย้ง วิพากษ์วิจารณ์สิ่งต่างๆ ด้วยเหตุผล
การศึกษาแบบตะวันตกเริ่มต้นที่การมีจิตวิพากษ์ แต่การศึกษาไทยเริ่มต้นที่การเชื่อฟังอำนาจตามจารีตประเพณี ผลลัพธ์ที่ได้จากระบบการศึกษาที่มีปรัชญาต่างกันราวฟ้ากับเหวเช่นนี้จึงสร้างมนุษย์คนละประเภท และชนชั้นกลางไทยคือผลิตภัณฑ์อันแทบจะไร้ที่ติของระบอบการสร้างความไร้การศึกษานี้
ตรงข้ามกับที่มักจะโอดครวญและก่นด่ากัน ปัญหาก้นบึ้งของสังคมไทยคือการมีความเป็นไทยมากล้นเกินไป และเอาอย่างฝรั่งน้อยเกินไป วิธีสังเกตความแตกต่างระหว่างประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศด้อยพัฒนา (หรือประเทศ “ไม่ประสงค์จะพัฒนา”) นั้นไม่ยาก แถมออกจะสนุกสนานและเต็มไปด้วยความขบขัน อะไรที่ทำในประเทศพัฒนาแล้ว “ผิด” ในประเทศด้อยพัฒนาจะ “ไม่ผิด” (เช่น รัฐประหาร, มือที่มองไม่เห็น, การมีอคติและเลือกปฏิบัติ, เหยียดมนุษย์ ฯลฯ) และในทางกลับกัน อะไรที่ทำในประเทศพัฒนาแล้ว “ไม่ผิด” ถ้าทำในประเทศด้อยพัฒนาจะ “ผิด” (เช่น วิพากษ์วิจารณ์สถาบันอำนาจ, สร้างความเสมอภาคทางวัฒนธรรมและการเมือง, ยอมรับเสียงส่วนใหญ่ ฯลฯ)
สำนึกดูถูกเหยียดหยามแบบคนกรุงเทพฯ มีมิติของทั้ง class และ ethnic ดังนั้นคนชั้นกลางกรุงเทพฯ จึงน่าจะจัดว่าเป็นพวก racist หรือ “เหยียดเชื้อชาติ” ที่สุดพวกหนึ่งในบรรดาประชากรในเขต metropolitan ของโลก
พวกเขาเหยียด “คนผิวดำ” เหยียด “แขก” เหยียด “ชาวเขา” เหยียดคนจากประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะพม่า ลาว เขมร และเหยียดผู้คนในประเทศของตนเอง ส่วน “ฝรั่ง” แม้จะเป็นที่พิศมัยและเกรงขาม แต่ก็ต้องเป็นฝรั่งตามแบบฉบับ คือ ฝรั่งผิวขาวชนชั้นกลางที่รักเมืองไทยและรู้ที่ต่ำที่สูง ถ้าพูดไทยได้และไหว้เป็นด้วย ก็จะยิ่งเป็นที่เสน่หาน่าเอ็นดู ทว่าหากเป็นฝรั่งนอกจินตภาพอันสวยงามนี้ เช่น ฝรั่งขี้นกสกปรก หรือฝรั่งชอบวิจารณ์เมืองไทยในทางเสียๆ หายๆ คนชั้นกลางไทยก็รังเกียจและไล่ด่าเปิดเปิงได้เหมือนกัน
ด้วยตัวอย่างอันมากล้นมหาศาล การแสดงการหมิ่นหยาม “คนอื่น” ของคนชั้นกลางกรุงเทพฯ ประจานความไม่มีวัฒนธรรมของพวกเขาได้โอ่อ่าตระการตาทีเดียว
สิ่งแรกที่ควรให้การศึกษาคนชั้นกลางกรุงเทพฯ หรือหากจะทำแคมเปญรณรงค์เพื่อการตื่นรู้ไปเลยก็ยิ่งวิเศษ คือความเข้าใจผิดมหันต์ของคนชั้นกลางกรุงเทพฯว่าตนเองเป็นผู้มีการศึกษาและเป็นคนดี
การศึกษาแสวงหาความรู้ ข้อมูล การถกเถียง และประสบการณ์จริง “นอก” ระบอบความรู้ (ความหลอกลวง/การโกหกมดเท็จ) กระแสหลักภายใต้อุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ จึงเป็นความรู้ที่ “จริงกว่า” และ “ถูกต้องกว่า” ผู้ที่แสวงหาความรู้แบบนี้และสลัดทิ้งการครอบงำความ(ไม่)รู้แบบเดิมจึง “มีการศึกษากว่า” ผู้ที่จมปลักอยู่กับมายาคติและมิจฉาทิฐิเกี่ยวกับเมืองไทยซึ่งบังเอิญเป็นคนชั้นกลางไทยในกรุงเทพฯ นั่นเอง
ตรงข้ามกับที่คนชั้นกลางคิด การทำความเข้าใจขบวนการประชาชนคนเสื้อแดงและคน “ชนบท” ที่ถูกเหยียดหยามเองนั่นแหละที่จะทำให้คนชั้นกลาง(หรืออันที่จริง เราทุกคน) มีการศึกษาขึ้น เข้าใจสังคมการเมืองมากขึ้น และปลดเปลื้องมายาคติ-มิจฉาทิฏฐิที่มีมาแต่เดิมได้เร็วขึ้น ไม่ใช่แค่ชนชั้นกลางเท่านั้นที่น่าเคลือบแคลงเรื่องการศึกษา แต่บรรดาผู้หลักผู้ใหญ่ องค์กรและคณะกรรมการต่างๆ ที่ต้องใช้ผู้มีวิชาความรู้จำนวนมากมายก่ายกองกลับแสดงความไร้การศึกษาและไร้จริยธรรมออกมากันอย่างน่าสมเพชอเนจอนาถ แบบอย่างล่าสุดที่ควรแก่การจารึกไว้คือ คณะกรรมการ(ทำลาย)สิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่ให้ท้ายและแก้ต่างให้กับรัฐบาลที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงและเห็นประจักษ์กันไปทั่วโลก ผู้ใหญ่คนหนึ่งให้โอวาทว่าคนไทยตามบ้านนอกเป็นคนหิวกระหายและนิสัยเสียเพราะอยากได้ของที่มีคนเอามาล่อ ผู้ใหญ่อีกคนหนึ่งชอบแสดงตนเป็นผู้ทำงานเพื่อแก้ไขความยากจนให้คนจนมีอำนาจมากขึ้น แต่กลับแสดงปาฐกถาคัดค้านการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เพราะผู้ใช้แรงงานควรอยู่อย่างพอเพียง
จะมีอะไรน่าหัวเราะและน่าอาเจียนไปกว่านี้อีก ฝ่ายที่กดขี่ประชาชนทั้งทางวัฒนธรรม การเมือง และเศรษฐกิจไม่ให้มีโอกาสเลื่อนสถานะให้ดีขึ้นที่แท้จริงและอำมหิตที่สุดแทนที่จะเป็นฝ่าย “ทุนสามานย์” อย่างที่มักประณามกัน กลับเป็นฝ่ายใส่หน้ากาก “คนดีมีคุณธรรม” ทั้งนั้น
ในทางวัฒนธรรม จงเป็นผู้น้อยผู้ไร้ค่าที่กราบไหว้และเชื่อฟังผู้ใหญ่ต่อไปจนตาย ในทางการเมือง จงเป็นพวกไร้การศึกษาที่ถูกเหยียดหยามเสียงในการเลือกตั้ง หากชนะรอบนี้ก็จงรอถูกยึดอำนาจกลับจากกลุ่มอำนาจเก่าที่มีศีลธรรมตอแหลในการปกครองเหนือกว่า ในทางเศรษฐกิจ คนบ้านนอกจงอย่าทะเยอทะยาน อย่าอยากได้อะไรเกินตัว ถ้าเดือดร้อนแสนสาหัส ให้รอถุงยังชีพที่ภูมิลำเนา คนชั้นแรงงานจงพอเพียงและพอใจกับการดำรงชีพอันไร้ศักดิ์ศรีและไร้ความหวังที่จะมีอนาคตที่ดีกว่าด้วยเงิน 150 บาทต่อวัน ในยุคสมัยที่เงิน 150 บาทนั่งแท็กซี่ไปประชุมคณะกรรมการร้อยพ่อพันแม่เที่ยวเดียวยังไม่ถึงที่หมายเลย การขึ้นค่าแรงเป็น 300 บาทต่อวันจะส่งผลกระทบทางดีทางร้ายต่อระบบเศรษฐกิจ ผู้ประกอบการ และแม้แต่ตัวผู้ใช้แรงงานเองอย่างไรเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันได้ แต่ทัศนคติที่แฝงอยู่ในการให้เหตุผลของผู้อาวุโสเหล่านี้เพ้อฝันอย่างโหดเหี้ยมยิ่งกว่านายทุนที่มีความเห็นต่อเรื่องค่าแรงไปตามสภาพความเป็นจริงของเศรษฐกิจสังคม
เลิกทำตัวเป็นนักบุญหลอกลวงสาธารณชนเถิด กดขี่กันตรงไปตรงมา ไม่ต้องตลบแตลงอ้างความสูงส่งทางศีลธรรม ยังจะน่าเลื่อมใสกว่า
เนื่องจาก “คุณธรรมจริยธรรม & ภูมิปัญญา” เป็น “ไสยศาสตร์” ที่พวกที่ได้รับการยกย่องเชิดชูจากสังคมไทยเหล่านี้ใช้สยบและบิดเบือนหลักการและเหตุผลของฝ่ายประชาธิปไตยอย่างสัมฤทธิผลมาตลอด นอกจากต้องปลดหน้ากากแล้วส่องไฟให้เห็นเต็มตาว่า “พวกคุณไม่ใช่คนดี” แล้ว ยังต้องให้การศึกษาอีกว่าการเรียกร้อง “จิตสำนึกใหม่” กับประชาชนที่ถูกเหยียบย่ำแทนที่จะเรียกร้องกับเครือข่ายชนชั้นนำเก่าที่กระทำการเหยียบย่ำนั้นเป็นเรื่องเหลวไหลเพ้อเจ้อที่ควรจะหยุดพร่ำเพ้ออย่างไม่รู้จักพอเสียที
การเทศนาซ้ำๆ ซากๆ ในเรื่อง New Consciousness (ซึ่งเป็นทฤษฎีทางภูมิปัญญา/จิตวิญญาณแนวหนึ่งในกระแสนิวเอจของบรรดาชาวตะวันตกในสังคมเสรี-ทุนนิยม-ประชาธิปไตย) แบบปิดตาข้างหนึ่งในสังคมอำนาจนิยม ก็เหมือนกับการเอาเรื่อง Environment หรือ Global Warming มาตำหนิการใช้กล่องโฟมกับถุงพลาสติกในการชุมนุมของคนเสื้อแดง โดยไม่แตะต้องเรื่องการใช้ปืนกับสไนเปอร์สังหารผู้ชุมนุมโดยกองทัพและรัฐบาล ถ้าผู้นำในการเผยแพร่ “New Consciousness” ในเมืองไทยคิดได้แค่นี้ ก็สมควรจะต้องทบทวนขนาดจิตของตัวเองว่าน่าจะ “เล็กๆ แคบๆ” ไม่ได้ “ใหญ่” และ “ใหม่” อย่างที่ชอบยกย่องตัวเองกัน คนที่ชอบเทศนาเรื่อง “จิตสำนึกใหม่” เองนั่นแหละที่ควรจะมีจิตสำนึกใหม่
ควรเพิ่มเติมด้วยว่า เทรนด์ทางภูมิปัญญาแบบ “จิตสำนึกใหม่” นี้เมื่ออิมพอร์ตเข้ามาในเมืองไทยก็สวมรับและบรรสานสอดคล้องกับท่าทีทางภูมิปัญญาเดิม(ซึ่งอิมพอร์ตมาเหมือนกัน)คือพุทธศาสนา หัวใจของภูมิปัญญาทั้งสองแบบคือ Moral (Spiritual) Hierarchy ซึ่งยิ่งได้รับการเน้นย้ำเพื่อประโยชน์ของชนชั้นนำตามจารีตในบริบทของสังคมวัฒนธรรมไทย ทั้งพุทธศาสนาและจิตสำนึกใหม่ถูกใช้เป็นเครื่องมือของชนชั้นนำเก่าและเครือข่ายที่จะแบ่งแยกผู้คนตามลำดับชั้นของศีลธรรมและระดับการวิวัฒนาการของจิต ศีลธรรมชั้นสูงสุดและระดับวิวัฒนาการของจิตขั้นสูงสุดย่อมเป็นคุณสมบัติที่ไม่ต้องตรวจสอบของเครือข่ายชนชั้นนำ ในขณะที่ประชาชนสามัญทั่วไปถูกยัดข้อหาว่ามีระดับชั้นทางศีลธรรม(รวมทั้งระดับขั้นของการบรรลุธรรม)และวิวัฒนาการของจิตที่ต่ำกว่าโดยไม่ต้องตรวจสอบเช่นกัน
ความวิปริตทางภูมิปัญญาแบบนี้คือการที่พุทธศาสนาและจิตสำนึกใหม่ถูกอ้างให้เป็น “ที่มา” และ “รากฐาน” ของทั้ง “ปัญญา” และ “ศีลธรรม” ที่ถูกต้องบริสุทธิ์สมบูรณ์ที่สุดในการตัดสิน อธิบาย และเสนอทางออกให้กับปรากฏการณ์ทุกชนิดในสังคม ด้วยท่าทีเช่นนี้ สังคมไทยจึงกลายเป็นหมู่บ้านเด็กในนิทานที่ทุกอย่างถูก simplified ให้ง่ายดายดูบ้องแบ๊วไร้เดียงสา แต่ถ้าขยี้ตาแรงๆ หรือทุบกะโหลกหนักๆ เราก็จะพบว่าเฉพาะในนิทานเท่านั้นจึงจะมีหมู่บ้านเด็กที่ดำรงอยู่ในโลกที่เป็นไปได้แบบนี้ ในความเป็นจริงการใช้พุทธศาสนาและจิตสำนึกใหม่แบบตื้นเขินและหลอกลวงกำลังทำให้สังคมไทยกลายเป็นหมู่บ้านคนปัญญาอ่อนมากกว่า
Moral (Spiritual) Hierarchy แบบ Buddhism และ New Consciousness แบบไทยๆ จะถูกใช้เป็นกฎเกณฑ์ทางศีลธรรมในสังคมระดับกว้าง (ทั้งที่ควรจะเป็นทางเลือกในการพัฒนาตนเองของปัจเจก) เพื่อกลบเกลื่อน บิดเบือนและหักล้างความ “ผิด” ในระบอบจริยธรรมแบบใหม่ซึ่งให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค ความยุติธรรม และความรับผิดชอบตรวจสอบได้ ดังนั้นเมื่อระบอบจริยธรรมแบบใหม่ต้องการ “เปิดโปง” และ “เอาผิด” ฝ่ายอำนาจนิยมที่ละเมิดหลักสิทธิมนุษยชน พวกนิยมพุทธและจิตสำนึกใหม่แบบไทยๆ (ซึ่งถูกตีความและให้อรรถาธิบายจนกลายเป็นเนื้อเดียวกัน จะพากันออกมาเทศนาการให้อภัยไม่จองเวร เรียกร้องให้มองทุกอย่างแบบองค์รวม สรรพสิ่งเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกัน อย่าคิดแยกส่วนตายตัวสุดโต่ง เพราะผิดธรรมชาติความเป็นจริง อย่าแบ่งแยกฝ่ายกดขี่กับฝ่ายถูกกดขี่ อย่าแบ่งแยกคนฆ่ากับคนถูกฆ่า (แต่ดันแบ่งแยกพวกบรรลุธรรมแล้วกับพวกยังไม่บรรลุธรรม แบ่งแยกจิตเล็กกับจิตใหญ่!)
ในที่สุดแล้ว ที่ถูกด่าว่า “ทุน” กับที่ถูกสดุดีว่า “คนดี” ฝ่ายไหนสามานย์อย่างลึกซึ้งกว่ากัน สังคมไทยต้องใช้ “จิตสำนึกใหม่” เพื่อการแยกแยะโดยแยบยล การโหมปลุกระดมเรื่องศีลธรรมคุณธรรมจริยธรรมเพื่อยกตัวเองและเหยียบฝ่ายเสรีประชาธิปไตยของเครือข่ายชนชั้นนำเก่า ทำให้สังคมไทยสร้างภาพหลอนขึ้นจากมรดกความเป็นสังคมเบาปัญญามาแต่เดิมว่า ความมีศีลธรรมอยู่คู่กับฝ่ายสถาบันตามจารีต และความไม่มีศีลธรรมอยู่คู่กับฝ่ายเรียกร้องเสรีประชาธิปไตย หรือพูดอีกอย่างว่า เสรีประชาธิปไตยแบบตะวันตกเป็นลัทธิที่ไร้ศีลธรรม
ถ้าตัดเรื่องศีลธรรมจอมปลอมแบบมือถือสากปากถือศีลของสังคมไทยออกไป การเรียกร้องเสรีประชาธิปไตยโดยมูลฐานแล้วคือการเรียกร้อง “จริยธรรม” แบบใหม่ให้เป็นคุณค่าร่วมของคนในสังคมแทนระบบศีลธรรมแบบเก่าของสังคมโบราณ (traditional values) ซึ่งวางอยู่บนคติการจำแนกคนตามลำดับชั้นและอิงอยู่กับศีลธรรมทางศาสนาและอุดมการณ์อำนาจศักดิ์สิทธิ์นิยมของชนชั้นปกครอง
กล่าวอย่างกว้างที่สุด คุณค่าพื้นฐานที่จริยธรรมแบบใหม่ของเสรีประชาธิปไตยเชิดชู (ซึ่งไม่ได้แปลว่าเป็นอุดมการณ์สัมบูรณ์ปราศจากปัญหา ข้อบกพร่อง ข้อวิจารณ์และความขัดแย้งในทางทฤษฎีและทางปฏิบัติ) คือ หลักการและกฎกติกาในสังคมต้องมาจากเหตุผล (Reason) ไม่ใช่อำนาจศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติ (God), การยึดมั่นในสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค (Human Rights, Liberty, Equality), ความอดทนอดกลั้นต่อความแตกต่าง (Tolerance), นิติรัฐ (Rule of Law), การเลือกตั้งเสรีและยุติธรรม (Free & Fair Election), การไม่เลือกปฏิบัติ (Anti-Discrimination), การรับผิดชอบและตรวจสอบได้ (Accountability) ฯลฯ
จะเห็นได้ว่าการที่สังคมใดจะเปลี่ยนมายึดถือ “คุณค่าแบบใหม่” แบบนี้ได้ก็ต้องมีการปฏิรูป/ปฏิวัติอุดมการณ์วัฒนธรรมเดิมที่ขัดแย้งอย่างถึงรากกับคุณค่าเหล่านี้ด้วย เมื่อมองสิ่งที่เกิดขึ้นในรอบหลายปีที่ผ่านมา เราก็จะยิ่งเห็นว่าคุณค่าเสรีประชาธิปไตยข้างต้นนี้เป็น “จริยธรรมสมัยใหม่” ที่คนชั้นกลางกรุงเทพฯ ไม่มีหรือมีอย่างกะพร่องกะแพร่ง
ฉะนั้นหากประเมินด้วยหลักเกณฑ์ทางจริยธรรมสมัยใหม่เหล่านี้อย่างจริงจัง คนชั้นกลางกรุงเทพฯ ที่ต่อต้านคุณค่าดังกล่าวจึงไม่ได้เป็นคนดี พวกเขาเป็น “คนไม่ดี” อย่างไม่อาจบิดพริ้วได้
หลักการสมัยใหม่เหล่านี้มีรากมาจากความคิดปรัชญาแบบ Enlightenment การปฏิเสธหลักการพื้นฐานนี้ของคนชั้นกลางกรุงเทพฯ ในแง่หนึ่งก็คือการปฏิเสธแสงสว่าง เพราะในความมืด ความฉ้อฉลที่พวกเขาเคยชินมิอาจมองเห็นและตรวจสอบได้ “Endarkenment” ของไทยปลุกเสกความมืดให้เป็นสรวงสวรรค์อันน่าหลงใหล ในการสร้างฝันอันสูงสุดถึงความมืดชั่วนิรันดร์ที่ทำให้ความสว่างเป็นอาชญากรรมนี้ บุตรธิดาแห่งรัตติกาลพึงพอใจกับการมองไม่เห็นสิ่งที่ไม่อยากเห็น
เฉพาะประเด็นการเลือกตั้งที่เพิ่งผ่านพ้นไป คนชั้นกลางไทยควรทำความเข้าใจเบื้องต้นว่า การที่พวกเขาจำนวนหนึ่งเลือกประชาธิปัตย์จากความเกลียดกลัวทักษิณ-พรรคเพื่อไทย-เสื้อแดง ไม่ใช่เพราะพวกเขามีการศึกษาสูง มีคุณธรรมจริยธรรมชั้นเลิศ และรู้เท่าทันการเมืองอย่างที่ทึกทักและปลอบประโลมกันเองแต่อย่างใด แต่พวกเขาเลือกพรรคเบอร์สิบเพราะพวกเขาเลือกข้าง และข้างที่พวกเขาเลือกคือข้างอนุรักษนิยม-จารีตนิยม (ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่ monarchy-military)
แต่ข้างอนุรักษนิยม-จารีตนิยมซึ่งมีพรรคประชาธิปัตย์เป็นตัวแทนสำคัญที่สุดในระบบพรรคการเมืองไม่สามารถเทียบได้อย่างเด็ดขาดกับบรรดาพรรคแนว “Conservative” ของประเทศประชาธิปไตยที่พัฒนาแล้ว เพราะ “อนุรักษนิยม” ในประเทศเหล่านั้นต้องนำเสนอแนวทางอยู่ “ภายใต้” กฎกติกาและคุณค่าประชาธิปไตยที่ทุกฝ่ายยอมรับร่วมกัน แต่สิ่งที่ “อนุรักษนิยม” ในเมืองไทยกระทำอยู่ผ่านเครือข่ายลูกสมุนทุกระดับทั้งในที่ลับและที่แจ้ง คือการสกัดขัดขวางและทำลายการเติบโตของประชาธิปไตย ด้วยวิถีทางและวิธีการที่ละเมิดหลักประชาธิปไตยและมนุษยธรรมสากล
พูดง่ายๆ ก็คือ ฝ่ายอนุรักษนิยมไทยโดยเนื้อแท้คือเผด็จการอำนาจนิยม ซึ่ง “มืด” และ “เถื่อน” เกินกว่าจะเอาไปเทียบกับอุดมการณ์อนุรักษนิยมในประเทศศิวิไลซ์ และไม่มีหลักจริยธรรมสมัยใหม่ใดจะสนับสนุนและให้ความชอบธรรมกับเผด็จการอำนาจนิยมได้
ถ้าตระหนักว่าการเลือกฝ่ายจารีตนิยม (the Establishment) ก็เพราะต้องการจะยืนหรือหมอบอยู่ข้างนี้ และต่อให้เห็นความชั่วร้ายฉ้อฉลนานัปการของฝ่ายจารีตนิยม แต่ก็ยังเลือกที่จะอิงแอบแนบชิดอยู่กับระบอบเก่า นี่ต้องถือว่าเป็นการเลือกที่มีเหตุผลของฝ่ายรอยัลลิสต์ แต่การปักใจว่าการเลือกฝ่ายจารีตนิยมของตนเองเป็นการเลือกอันชาญฉลาด สูงส่ง ถูกต้องดีงาม และเท่เก๋ไก๋ต่างหากที่แสดงถึงความไร้การศึกษาของผู้เลือก
และเมื่อคำนึงถึงอาชญากรรมโดยรัฐในการสังหารประชาชน (รวมทั้งสื่อมวลชนต่างชาติ) ที่มีพยานหลักฐานฉาวโฉ่ไปทั่วโลก ทว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์และกองทัพยังปิดบังอำพราง โกหก ใส่ร้าย โยนความผิดและไม่ยอมรับผิดจนถึงทุกวันนี้แล้ว การเลือกเพื่อให้พรรคนี้ได้กลับมาครองอำนาจอีก เป็นสิ่งที่ผู้เลือกต้องใคร่ครวญและสำรวจศีลธรรมประจำตนด้วยจิตใจอันเที่ยงธรรม(ถ้ามี)เอาเอง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น